xs
xsm
sm
md
lg

ปปง.ยึดอายัดทรัพย์ “อั้ม PSV-บอสตาล” เพิ่มกว่า 100 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



MGR Online - โฆษก ปปง. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ดำเนินการกับทรัพย์สิน 1,313 รายการ 43 รายคดี มูลค่าทรัพย์สินกว่า 1,425 ล้านบาท

วันนี้ (14 มี.ค.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมายและโฆษก ปปง. พร้อมด้วย นายพีรธร วิมลโลหการ ผอ.กองกำกับและตรวจสอบ น.ส.สุปราณี สถิตชัยเจริญ ผอ.กองความร่วมมือและพัฒนามาตรฐาน และ นายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย ร่วมแถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม และการดำเนินการของสำนักงาน ปปง. ประจำเดือน มี.ค. 67

นายวิทยา กล่าวว่า คณะกรรมการได้พิจารณาเห็นชอบให้ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 30 รายคดี ทรัพย์สิน 467 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 301 ล้านบาท แบ่งเป็น คดียาเสพติด รวม 68 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 88 ล้านบาท เช่น คดี นายฮุ้ยหวาง หวัง (MR.HUIHUANG WANG) กับพวก เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดเกี่ยวกับศุลกากร และความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งขยายผลจากผู้กระทำความผิดคดีผับจินหลิง ให้ยึดทรัพย์สิน 3 รายการ (รถยนต์หรู) มูลค่า 53 ล้านบาท , คดี นายอานนท์ กับพวก ซึ่งเป็นขบวนการยาเสพติดและฟอกเงิน โดยรับยาบ้าจาก สปป.ลาว ลำเลียงเข้ามาในประเทศไทยแล้วกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สิน 65 รายการ (เช่น ที่ดิน และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 35 ล้านบาท

นายวิทยา กล่าวอีกว่า ส่วนความผิดการพนันออนไลน์ มีการยึดและอายัดทรัพย์สิน 218 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 129 ล้านบาท เช่น คดีกลุ่มเว็บไซต์ www.wtf555.com (น.ส.พิณณาณัฐ กับพวก) ยึดทรัพย์สิน 91 รายการ (เช่น รถยนต์หรู เงินสด และสินค้าแบรนด์เนม) มูลค่าประมาณ 15 ล้านบาท, คดี นายภูมิพัฒน์ กับพวก (อั้ม PSV) กรณีเว็บไซต์พนันออนไลน์ www.ufa24h.net และความผิดฐานฟอกเงิน มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สิน (เพิ่มเติม) จำนวน 7 รายการ (ที่ดิน และเงินสด) มูลค่าประมาณ 76 ล้านบาท, รายคดี นายพงษ์ศิริ กับพวก กรณีเว็บไซต์ TS911, www.go-sbobet.com, www.ok-sbobet.com และเฟซบุ๊ก Freeball By.tan โดยยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 120 รายการ (เช่น รถยนต์หรู เงินสด สินค้าแบรนด์เนม และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 38 ล้านบาท

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ปปง. ยังส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 18 รายคดี ทรัพย์สิน 822 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 1,092 ล้านบาท เช่น คดี นายณัฐวัตร กับพวก ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์ จำนวน 255 รายการ (เช่น เงินสด พระเครื่อง เครื่องประดับ สินค้าแบรนด์เนม รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์) มูลค่าประมาณ 41 ล้านบาท และ คดี น.ส.ธารารัตน์ฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน โพสต์ชักชวนให้บุคคลทั่วไปมาแลกเปลี่ยนเงินสกุลบาทเป็นเงินสกุลหยวน ในอัตราที่ถูกกว่าปกติ แต่เมื่อถึงกำหนดไม่โอนเงินสกุลหยวน หรือไม่สามารถได้ผลตอบแทนตามกำหนด จำนวน 224 รายการ (เช่น ที่ดิน ห้องชุด รถยนต์และบัญชีเงินฝากธนาคาร) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 1,017 ล้านบาท โดยรายคดี น.ส.ธารารัตน์ สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอรับการคุ้มครองสิทธิ ได้ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. ถึงวันที่ 6 พ.ค. 67 พร้อมแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายและจำนวนความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

“ทั้งนี้ ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) จำนวน 4 รายคดี ทรัพย์สิน 24 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 32 ล้านบาท ได้แก่ คดี บริษัท เออี โกลฟ จำกัด และว่าที่ร้อยตรี อัครเดชฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน สินค้าถุงมือยางให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจำนวน 3 ราย โดยดำเนินการกับทรัพย์สินจำนวน 8 รายการ มูลค่าประมาณ 12 ล้านบาท และ คดี พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าได้ทำสัญญาซื้อขายถุงมือยางกับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด โดยไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง โดยดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจำนวน 1 ราย (องค์การคลังสินค้า) โดยดำเนินการกับทรัพย์สินจำนวน 8 รายการ มูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท”

นายวิทยา กล่าวสรุปผลการดำเนินการของสำนักงาน ปปง. ในภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน กรณีการดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สิน และการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิ) ในรอบ 6 เดือน (ข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถึง เดือนมีนาคม 2567) ดังนี้ มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สิน 128 คำสั่ง จำนวน 116 รายคดี รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ดำเนินการประมาณ 6,460 ล้านบาท และ ดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในทรัพย์สิน จำนวน 40 คดี รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ดำเนินการประมาณ 5,242 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกัน ในปีที่ผ่านมา ในรอบ 6 เดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค. 65 ถึง เดือน มี.ค. 66 พบว่า มูลค่าในการดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สิน ลดลง ประมาณ 130 ล้านบาท และมูลค่าของทรัพย์สินที่ส่งสำนวนคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย เพิ่มขึ้น ประมาณ 4,555 ล้านบาท

ด้าน นายพีรธร เผยถึงมาตรการป้องกันตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ว่า สำนักงาน ปปง. ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันการออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 (พ.ร.ก.) และถือเป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนภารกิจตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว โดยเลขาธิการ ปปง. ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของ พ.ร.ก. ระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน ปปง. และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และยังดําเนินการร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) ซึ่งเป็นศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นเป็นระบบ One Stop Service

“สําหรับประชาชนในการติดตามสถานการณ์ สั่งการ ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามภัยออนไลน์อย่างบูรณาการและทันเวลา รวมถึงให้คําปรึกษาและแก้ปัญหาภัยออนไลน์สําหรับประชาชน ปัจจุบันผลการดําเนินการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 12 มีนาคม 2567)พิจารณากําหนดรายชื่อบุคคล กรณีบัญชีม้า ดังนี้ รหัส HR-03-1 จํานวน 5,672 รายชื่อ จํานวนบัญชีที่ธนาคารตรวจพบและแจ้งกลับ 53,136 หมายเลขบัญชี และรหัส HR-03-2 จํานวน 26,080 รายชื่อ จํานวนบัญชีที่ธนาคารตรวจพบและแจ้งกลับ 251,212 หมายเลขบัญชี”

นอกจากนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้มีมติให้พิจารณากำหนด “รายชื่อเจ้าของบัญชีที่ถูกแจ้งเหตุว่า ได้มีการใช้บัญชี หรืออาจถูกใช้บัญชี หรือมีพฤติกรรมในการใช้บัญชี หรือทำธุรกรรมที่เข้าข่ายหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” เป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงตามประกาศสำนักงาน ปปง. เพื่อดำเนินการกับบัญชีม้าแถว 1 แล้ว จากนั้นธนาคารเจ้าของบัญชีของผู้เสียหาย มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีม้าแถว 1 ที่ผู้เสียหายโอนเงินไปและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามที่ สำนักงาน ปปง. กำหนด ส่งให้ศูนย์ AOC 1441 โดยเร็ว เพื่อแจ้งให้สำนักงาน ปปง. ดำเนินการตามประกาศสำนักงาน ปปง. ต่อไป

อนึ่ง สำหรับผู้เปิดบัญชีม้าจะมีความผิดตาม มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. โดยมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี หรือปรับสูงสุด 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่เป็นธุระจัดหาหรือโฆษณาให้มีการซื้อขายบัญชีม้า จะมีความผิดตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก. มาตรการฯ โดยมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือปรับสูงสุด 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งอาจจะมีความผิดฐานฟอกเงิน ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับสูงสุด 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย และในกรณีที่สำนักงาน ปปง. ตรวจสอบพบการกระทำความผิดดังกล่าว จะดำเนินการกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไปอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น