xs
xsm
sm
md
lg

102 ปี พล.อ.สายหยุด “ทหารเก่า ไม่มีวันตาย” ตำนานทหารประชาธิปไตย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 วันอังคารที่ 2 เมษายน 2567 นำเสนอรายงานพิเศษ “ทหารเก่า ไม่มีวันตาย” ตำนานทหารประชาธิปไตย



เมื่อครั้งที่ พล.อ.ดักลาส แมคอาเธอร์ อดีตผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ผู้พิชิตญี่ปุ่น ในสมรภูมิแปซิฟิก ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และผู้บัญชาการกองทัพสหประชาชาติ ในสงครามเกาหลี ถูกปลดจากตำแหน่งด้วยคำสั่งของประธานาธิบดีแฮรี่ ทรูแมน

นายพลแมคอาเธอร์ ได้กล่าววาทะที่กลายเป็นอมตะวาจา ไว้ในสภาครองเกรสว่า “old soldier never die” อันหมายความว่า “ทหารเก่า ไม่มีวันตาย”และวาทะนั้นก็ถูกกล่าวขาน ยกย่อง สืบต่อกันมาในกองทัพสหรัฐฯ และชาติต่างๆ ทั่วโลกจวบจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม มีเพียงทหารไม่กี่คนเท่านั้น ที่จะมีชีวิตสมกับคำกล่าวยกย่องอย่างสมภาคภูมิ ในฐานะทหารเก่าที่ฝากชื่อและผลงานให้เป็นที่จดจำและดำรงอยู่จวบนิรันดร์

ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้น มีนายทหารชาวไทยที่ชื่อ พล.อ.สายหยุด เกิดผล อดีตนักรบหลายสมรภูมิ และผู้ดับไฟสงครามระหว่างคนไทยด้วยกัน ก่อนจะมีบทบาทในฐานะนายทหารประชาธิปไตยหลังเกษียณอายุราชการ

ในวันนี้ พล.อ.สายหยุด ยังคงก้าวเดินได้อย่างสง่างามสมภาคภูมิ แม้จะมีอายุ 102 ปี ในวันที่ 30 มีนาคม ที่เพิ่งผ่านมา
พล.อ.สายหยุด เกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2465 เป็นชาวสุโขทัย บิดามารดาเป็นเกษตรกร พล.อ.สายหยุด เรียนหนังสือเก่งมาตั้งแต่เด็ก หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนในจังหวัดแพร่ ได้เข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนวังสมเด็จบูรพา ในจังหวัดพระนคร ก่อนจะสอบเข้าเป็น นักเรียนเตรียมนายร้อยทหารบก และสำเร็จการศึกษา ในปี 2482 โดยสอบได้ในลำดับที่ 1

เริ่มรับราชการครั้งแรกในตำแหน่งผู้บังคับหมวด สังกัดกองพันทหารราบที่ 29 ก่อนจะเข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีน ซึ่งกองทัพไทยสู้รบกับ กองทัพอินโดจีนฝรั่งเศส จากนั้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เข้าร่วมรบ ในสมรภูมิเชียงตุง ในสังกัดกองทัพพายัพ ที่มี พล.อ. จีระ วิชิตสงคราม เป็นผู้บัญชาการ
โดยในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยเป็นพันธมิตรร่วมรบกับกองทัพญี่ปุ่น

ต่อมา เมื่อเกิดสงครามเกาหลี ประเทศไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมรบ ใน นามกองทัพสหประชาชาติ พล.อ.สายหยุด เป็นหนึ่งในกองกำลังทหารไทย ผลัดที่ 3

หลังกลับจากเกาหลี พล.อ.สายหยุด ได้รับการบรรจุเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ ประจำกรมข่าวทหารบก ก่อนจะขยับเข้ากรมยุทธการทหารบก ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่เปรียบเสมือนมันสมองสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดยุทธศาสตร์ และแนวทางการปฏิบัติของหน่วยกำลังในพื้นที่ต่างๆ ของกองทัพบก

ผลงานสำคัญของ พล.อ.สายหยุด ผลงานแรกในกรมยุทธการ ทหารบกก็คือ การวางแนวทางทำสงครามลับในลาว เพื่อยับยั้งภัยคุกคาม จากลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยกองทัพบกได้ก่อตั้ง บก. 333 ที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อทำการฝึกและจัดส่งทหารอาสาสมัครเสือพราน ข้ามโขงไปทำการรบกับทหารลาวแดงและเวียดนามเหนือ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักข่าวกรองกลาง สหรัฐฯ หรือ CIA

พล.อ.สายหยุด ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ เป็นนายทหารชั้นนายพลครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2505 โดยเป็นพลตรี ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธการทหารบก ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่เหมาะสมกับ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ตลอดจนความฉลาดหลักแหลมของท่านเป็นอย่างยิ่ง

ระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธการทหารบก พล.อ.สายหยุด ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ในประเทศ

โดยใช้นโยบายการเมืองนำหน้าการทหาร มีการก่อตั้งโครงการการุณยเทพ เปิดโอกาสให้ ผกค. วางอาวุธเข้ามอบตัวกับทางการ โดยไม่มีความผิด และปรับเปลี่ยนกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ ไปเป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เพื่อลดภาพความแข็งกร้าวในการเป็นศัตรูกับคอมมิวนิสต์โดยตรง แต่มุ่งเน้นการรักษาความมั่นคง ซึ่งครอบคลุมในทุกมิติ
และ กอ.รมน. ยังคงดำรงอยู่ในฐานะหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงของชาติในปัจจุบัน

อาจกล่าวได้ว่า พล.อ.สายหยุด เป็นทั้งนายทหาร สายเหยี่ยวและสายพิราบ แม้จะเคยผ่านการรบในหลายสมรภูมิ แต่ก็เป็นผู้ที่ยึดมั่นในแนวทางสันติ จะเห็นได้จากหลังเหตุการณ์ กบฏเมษายน 2524 เพื่อยึดอำนาจจากพล.อ.เปรมติณ สูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น พล.อ.สายหยุด เป็นผู้เสนอให้มีการขอพระราชทานอภัยโทษแก่ ผู้ก่อการทั้งหมดในวันฉัตรมงคลปีเดียวกันนั้นเอง

หลังเกษียณอายุราชการ ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2526 พล.อ.สายหยุด ได้เข้ามามีบทบาทในฐานะการเมืองภาคประชาชนอย่างเต็มตัว โดยเป็นผู้ริเริ่มการก่อตั้งกลุ่มอาสาประชามติ ซึ่งเป็นกลางทางการเมือง ที่ต้องการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ต่อมาในปี 2535 พล.อ.สายหยุด ได้รับเชิญให้เป็นรองประธานคณะกรรมการ ติดตามดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย เมื่อปี 2537

ในเวลาต่อมา พล.อ.สายหยุด ได้เข้าร่วมกับองค์กรกลาง และเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง หรือ พีเน็ต ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งประธานมูลนิธิองค์กรกลาง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 ขณะมีอายุ93ปี

เมื่อถึงวันนี้ จึงไม่มีนายทหารของกองทัพไทยคนใดที่จะมีฉากชีวิต ที่สมควรได้รับการจารึกไว้ในฐานะ “ทหารเก่าที่ไม่มีวันตาย” ผู้อุทิศตนในการ ทำงานในฐานะทหารอาชีพที่หาได้ยากยิ่ง และจะเป็นแบบอย่างของอนุชนในกองทัพให้ยึดถือเพื่อเจริญรอยตามสืบไป

--------------------------------
**หมายเหตุ
แอป Sondhi App ดาวโหลดได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
กำลังโหลดความคิดเห็น