xs
xsm
sm
md
lg

ระวังไว้! รัสเซียเตือน US กำลังนำพายุใหญ่มาสู่เอเชีย หลังประจำการขีปนาวุธในฟิลิปปินส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



การประจำการขีปนาวุธพิสัยปานกลางของสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์ เป็นอีกหนึ่งย่างก้าวของวอชิงตันสำหรับมุ่งหน้าสู่การเผชิญหน้าทางทหารในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากคำเตือนของ อนาโตลี อันโตนอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำวอชิงตัน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กองทัพสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคแปซิฟิก เปิดเผยว่าได้ประจำการขีปนาวุธครั้งประวัติศาสตร์ ที่แสดงให้เห็นถึงการเข้าถึงอย่างครอบคลุมและความแม่นยำทางโลจิสติกส์ของกองทัพอเมริกา หลังจากระบบขีปนาวุธ Typhoon Mid-Range Capability (MRC) ถูกลำเลียงสู่เกาะลูซอนของฟิลิปปินส์ ห่างจากไต้หวันราว 250 กิโลเมตร ทั้งนี้ ระบบ Typhoon ได้รับการเปิดตัวครั้งแรกในปี 2023 และสามารถยิงได้ทั้งขีปนาวุธ Standard Missile 6 (SM-6) และขีปนาวุธโทมาฮอว์ก ซึ่งอย่างหลังมีพิสัยทำการสูงสุด 2,500 กิโลเมตร

อันโตนอฟ โพสต์ข้อความบนเทเลแกรมว่า "การอวดต่อหน้าสาธารณะของเพนตากอน ต่อแสนยานุภาพของพวกเขาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เกี่ยวกับการประจำการอย่างรวดเร็วอาวุธที่เคยถูกแบนภายใต้สนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty--INF) ก่อความกังวลเป็นอย่างยิ่ง"

"ด้วยการส่งมอบระบบ Typhoon แก่ฟิลิปปินส์ ฝ่ายสหรัฐฯ กำลังนำเอาอาวุธระดับชั้นที่มีศักยภาพบั่นทอนเสถียรภาพทั้งหมดออกจากเงามืด เพื่อรับประกันความเหนือกว่าด้านการทหารเมื่อเทียบกับฝ่ายตรงข้าม" เขาเน้นย้ำ พร้อมบอกว่า "พฤติกรรมเช่นนี้ของสหรัฐฯ ถือเป็นทำลายล้างเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์อย่างรุนแรงอีกครั้ง เอเชียมีอาวุธร้อนสะสมอยู่มากมายอยู่ก่อนแล้ว และภูมิภาคแห่งนี้กำลังกลายเป็นดินแดนทางทหารอย่างรวดเร็ว"

เขาบอกต่อว่า "สหรัฐฯ มีความตั้งใจยกระดับการเผชิญหน้าทางทหารและโหมพระพือความตึงเครียดในเอเชีย-แปซิฟิก ในความพยายามนำพาโลกกลับคืนสู่ช่วงเวลาที่มืดมิดที่สุดแห่งสงครามเย็นและผลักโลกสู่ขอบเหวแห่งความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ เราเรียกร้องสหรัฐฯ อย่าได้เปิดกล่องแพนโดรา แล้วทำตามแบบอย่างประเทศของเรา ใช้ก้าวย่างทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อรับประกันเสถียรภาพโลกและสถานการณ์ที่คาดเดาได้" อันโตนอฟระบุ

สนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง ได้ห้ามรัสเซียและสหรัฐฯ จากการประจำการขีปนาวุธยิงจากภาคพื้น ที่มีพิสัยทำการระหว่าง 500 กิโลเมตร ถึง 5,500 กิโลเมตร ในยุโรป แต่อเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงในปี 2019 ปล่อยให้รัสเซียไม่มีทางเลือกอื่นๆ ยกเว้นแต่ยุติการมีส่วนร่วมในสนธิสัญญาฉบับนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มอสโกนำเสนอบันทึกความเข้าใจฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการประจำการอาวุธดังกล่าว ที่ใช้สำหรับชดเชยสนธิสัญญาที่ถูกฉีกทิ้งไป

อันโตนอฟ เน้นย้ำว่า บันทึกความเข้าใจดังกล่าว "มีเงื่อนไขต่างๆ อย่างชัดเจน นั่นคือ เราจะไม่ประจำการระบบอาวุธเหล่านี้ จนกว่าระบบอาวุธแบบเดียวกันที่ผลิตโดยสหรัฐฯ จะปรากฏตัวในภูมิภาคไหนๆ ในโลก แต่ถ้ามันเกิดขึ้น ทุกความรับผิดชอบสำหรับความตึงเครียดระลอกใหม่ในโลกใบนี้จะตกไปอยู่ที่วอชิงตัน"

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น