xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนออกคำแถลงเรียกร้องทุกฝ่ายในพม่ายุติความรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เอเอฟพี - กลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์การต่อสู้ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในพม่าเมื่อไม่นานนี้ หลังจากการปะทะกันอย่างดุเดือดที่ศูนย์กลางการค้าสำคัญบริเวณชายแดนไทย

รัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรงในพม่าทันที หลังจากพม่าติดพันอยู่ในความขัดแย้งนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจในการรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ.2564

คำแถลงของรัฐมนตรีที่ออกในค่ำวันพฤหัสฯ (18) ระบุว่าสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศมีความกังวลอย่างยิ่งต่อความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ รวมถึงในพื้นที่เมียวดี

ทหารต้องถอนกำลังออกจากที่มั่นในพื้นที่ด่านการค้าสำคัญแห่งนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังต่อสู้กับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารอื่นๆ อยู่หลายวัน

นับเป็นความพ่ายแพ้ล่าสุดของรัฐบาลทหาร ที่เผชิญกับการสูญเสียในสนามรบหลายครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนเตือนว่านี่อาจเป็นภัยคุกคามครั้งสำคัญที่สุด

เมืองเมียวดีมีความสำคัญต่อรัฐบาลทหารที่ขาดแคลนเงินสด โดยมูลค่าการค้ามากกว่า 1,100 ล้านดอลลาร์ผ่านเมืองแห่งนี้ในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือน เม.ย.

การปะทะดังกล่าวส่งผลให้ผู้คนต้องหลบหนีข้ามแดนเข้ามาในฝั่งไทย แต่อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เข้าควบคุมพื้นที่ ยังไม่มีการปะทะใหญ่เกิดขึ้นในเมือง มีเพียงการต่อสู้รอบเมืองกอกะเร็ก ที่อยู่ห่างจากเมืองเมียวดีทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 30 กิโลเมตร

นักวิเคราะห์ระบุว่า รัฐบาลทหารกังวลกับการเสียเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่ง หลังจากทหารราว 2,000 นาย ได้ยอมจำนนอย่างน่าอับอายที่เมืองเล่าก์ก่าย บริเวณชายแดนจีนเมื่อเดือน ม.ค.

พื้นที่บางส่วนของประเทศที่เคยสงบสุขก่อนหน้านี้ถูกดึงเข้าไปในความขัดแย้ง รวมถึงในรัฐยะไข่ ที่การหยุดยิงยาวนานได้สิ้นสุดลงในเดือน พ.ย.

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า การปะทะกันระหว่างทหารของรัฐบาลและกองทัพอาระกัน เกิดขึ้นควบคู่ไปกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างโรฮิงญาและชุมชนชาติพันธุ์ยะไข่ ซึ่งหมายความว่ามีความเสี่ยงร้ายแรงที่ความโหดร้ายครั้งก่อนจะเกิดขึ้นซ้ำอีก

“เสียงเตือนดังขึ้นแล้ว เราต้องไม่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอดีต” โวลเคอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการสูญเสียและการต่อสู้เพิ่มขึ้น แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่ารัฐบาลทหารยังไม่ตกอยู่ในภัยอันตราย

“เมื่อพิจารณาจากสิ่งต่างๆ รัฐบาลกำลังสูญเสียการควบคุมหลายพื้นที่ในบริเวณรอบนอกอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังคงอีกยาวไกลกว่าที่สภาบริหารแห่งรัฐจะล่มสลาย” เดวิด แมทธีสัน นักวิเคราะห์อิสระเกี่ยวกับพม่า กล่าวกับเอเอฟพี เกี่ยวกับการปะทะที่เมืองเมียวดี.
กำลังโหลดความคิดเห็น