xs
xsm
sm
md
lg

มีพิรุธ! US ซัดรัสเซียปิดซ่อนบางอย่าง หลังขวางมติ UNSC ห้ามประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในอวกาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รัสเซียในวันพุธ (24 เม.ย.) วีโต้ญัตติหนึ่งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่ร่างโดยสหรัฐฯ ซึ่งเรียกร้องประเทศต่างๆ สกัดการแข่งขันทางอาวุธในอวกาศ ความเคลื่อนไหวที่กระตุ้นให้อเมริกาออกมาตั้งข้อสงสัยว่ามอสโกกำลังปิดบังอะไรบางอย่างหรือไม่

การลงมติครั้งนี้มีขึ้นหลังจากวอชิงตันกล่าวหามอสโกกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อต้านดาวเทียมที่จะส่งขึ้นไปประจำการในอวกาศ คำกล่าวอ้างที่รัสเซียปฏิเสธ ในขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน บอกว่ามอสโกคัดค้านการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ใดๆ ในอวกาศเช่นกัน

ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ บอกกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หลังเสร็จสิ้นการโหวต "การใช้สิทธิวีโต้ในวันนี้ได้ก่อคำถามว่า ทำไม ถ้าคุณกำลังปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ แล้วทำไมคุณไม่สนับสนุนญัตติหนึ่งที่เน้นย้ำในเรื่องนี้ เป็นไปได้ว่าคุณกำลังปิดซ่อนอะไรอยู่หรือเปล่า? มันน่างงงวยและน่าอดสู"

อย่างไรก็ตาม วาสซิลี เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ กล่าวหาวอชิงตันพยายามสร้างมลทินแก่มอสโก และบอกว่าเร็วๆ นี้ รัสเซียจะเริ่มเจรจากับบรรดาสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้งหลาย ในร่างญัตติของตนเองที่มีเป้าหมายคงสันติภาพในอวกาศ

"เราต้องการแบนอาวุธทุกรูปแบบในอวกาศนอกโลก ไม่ใช่แค่อาวุธทำลายล้าง แต่คุณไม่ต้องการแบบนั้น ดังนั้นผมจึงอยากถามคำถามแบบเดียวกันกับคุณ ทำไม?" เนเบนเซีย ตั้งคำถามกลับไปยัง โธมัส-กรีนฟิลด์ ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ร่างญัตตินี้เสนอให้ลงมติโดยสหรัฐฯ และญี่ปุ่น หลังจากใช้เวลาเจรจานานเกือบ 6 สัปดาห์ โดยมีชาติสมาชิกโหวตเห็นชอบ 13 ประเทศ แต่จีนงดออกเสียงและรัสเซียใช้สิทธิวีโต้

ในร่างญัตตินี้จะเน้นย้ำพันธสัญญาในการปฏิบัติตามสันธิสัญญาว่าด้วยอวกาศ (Outer Space Treaty) และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ "สนับสนุนด้วยความกระตือรือร้นต่อจุดประสงค์การใช้อวกาศอย่างสันติวิธี และป้องกันการแข่ขันทางอาวุธในอวกาศ"

สนธิสัญญา Outer Space Treaty ปี 1967 ได้ห้ามบรรดาชาติผู้ลงนาม ในนั้นรวมถึงรัสเซียและสหรัฐฯ จากการประจำการวัตถุใดๆ ที่บรรทุกอาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธทำลายล้างรูปแบบใดก็ตามในวงโคจรรอบโลก

ก่อนคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะโหวตร่างของสหรัฐฯ ทาง รัสเซียและจีน ก็เสนอร่างฉบับแก้ไขของตนเองเช่นกัน ในนั้นรวมถึงข้อเรียกร้องให้ทุกประเทศ "ขัดขวางการประจำการอาวุธในอวกาศตลอดเวลา เช่นเดียวกับขัดขวางการข่มขู่คุกคามหรือใช้กำลังในอวกาศนอกโลก รวมถึงภัยคุกคามจากอวกาศสู่โลก หรือจากโลกสู่วัตถุต่างๆ ที่อยู่ในอวกาศ"

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เปิดลงมติในข้อเสนอร่างฉบับแก้ไขดังกล่าว แต่มันไม่ผ่านความเห็นชอบ โดยมีชาติที่ยกมือสนับสนุนเพียง 7 ประเทศ โหวตคัดค้าน 7 ชาติ และอีก 1 ชาติงดออกเสียง

พวกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ เชื่อว่ารัสเซียมีศักยภาพในการประจำการระเบิดนิวเคลียร์ในอวกาศ ในขณะที่อาวุธชนิดนี้หากมีการจุดชนวนระเบิด มันจะปลดปล่อยรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าที่จะตัดขาดเครือข่ายดาวเทียมอย่างกว้างขวาง

แต่กระนั้น จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ บอกว่ารัสเซียยังไม่ได้ประจำการอาวุธดังกล่าว

รัฐบาลประเทศต่างๆ เริ่มมองมากขึ้นว่าดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลกเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญยิ่ง ทั้งในด้านการทหารและการสื่อสาร โดยตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของอวกาศในสงครามสมัยใหม่ คือการที่โดรนที่เชื่อมต่อกับดาวเทียมถูกใช้งานในสงครามในยูเครน

(ที่มา : รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น