xs
xsm
sm
md
lg

โรงเชือด-ทุนจีนดอดเจรจาซื้อตรง “โคขุน-กระบือ” สหกรณ์ฯ ปางศิลาทอง ปีละ 100,000 ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กำแพงเพชร - เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุน ดีใจ-ได้หวังกันเต็มเปี่ยม..ผู้บริหารโรงเชือดจากจีน-ผู้ค้าเครือข่ายเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (คิงส์โรมัน) เจรจาให้ส่งออกวัวปีละ 1 แสนตัว หลังประสบปัญหาขาดทุนเรื้อรังจากการขายและต้นทุนที่แบกรับมานาน


ขณะนี้สมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคขุนในเขตปฏิรูปที่ดินปางศิลาทอง จำกัด เลขที่ 49 ม.11 ต.หินดาด อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร ที่เข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 เมื่อ 24 เม.ย. 67 ที่ผ่านมา ต่างกลับบ้านไปด้วยความหวังที่เต็มเปี่ยม

หลังมีการแจ้งในที่ประชุมว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อจะมีช่องทางการขายวัวของตนเองไปสู่ตลาดในประเทศจีนโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งมี “นายจ้าวจื้อซิ้น” (Zhao zhi xin) ผู้บริหารและคณะจากโรงเชือดโคขุน เมิงล่าเฉิงคัง ประเทศจีน มาดูคอกเลี้ยงโคขุนของสหกรณ์และสมาชิกที่ร่วมโครงการ

โรงเชือดเมิงล่าเฉิงคังเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจที่มีกำลังการเชือดโคขุนถึง 5 แสนตัวต่อปี ซึ่งในปีนี้มีโควตานำเข้าโคขุนและกระบือจากประเทศไทยประมาณ 50,000-100,000 ตัว รวมทั้งมีแผนดำเนินการในรูปแบบอุตสาหกรรมส่งออกที่ต้องการโคขุนลูกผสมยุโรป หรือบราห์มัน และกระบือ อายุไม่เกิน 3 ปี น้ำหนักไม่น้อยกว่า 450 กิโลกรัม และไม่เกิน 1,000 กิโลกรัม จากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน GAP สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ไม่มีร่องรอยโรคต้องห้ามและสารเร่งเนื้อแดง

ที่ผ่านมาโรงเชือดดังกล่าวได้มีการซื้อโคขุนจากเกษตรกร สปป.ลาว มาแล้ว และต้องการขยายการซื้อกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น


ทั้งนี้ สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคขุนในเขตปฏิรูปที่ดินปางศิลาทอง จำกัด ได้ร่วมกับ บริษัท กสิกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (คิงส์โรมัน) และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกำแพงเพชร ผลักดันให้มีการต่อยอดการบริหารจัดการการเลี้ยงโคขุนของสมาชิกในทุกขั้นตอนให้มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การเลี้ยง การดูแลป้องกันโรคต้องห้าม ไปจนถึงการนำส่งออกสู่โรงเชือดโคขุน เมิงล่าเฉิงคัง ประเทศจีน โดยคาดว่าราคาหน้าฟาร์มของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนจะอยู่ที่ราคา 93-95 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะส่งผลดีให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนมีรายได้เลี้ยงครอบครัวเพิ่มขึ้น

นายสมประสงค์ ยอดยิ่ง ประธานกรรมการสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคขุนในเขตปฏิรูปที่ดินปางศิลาทอง จำกัด กล่าวว่า ตัวแทนจากโรงเชือดโคขุน เมิงล่าเฉิงคัง ประเทศจีน และ บริษัท กสิกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (คิงส์โรมัน) ได้เดินทางมาเจรจาเรื่องราคาซื้อขายร่วมกัน โดยในอนาคตจะส่งออกวัวไปยังโรงเชือดที่จีน

ขณะนี้สมาชิกที่เลี้ยงโคขุนตอนนี้คำนวณแล้วจะได้วัวกว่า 100,000 ตัวต่อปี และราคาขายหน้าคอกวัวอยู่ที่ 93-110 บาท ขึ้นอยู่แต่ละสายพันธุ์ ซึ่งเราเป็นตัวแทนในการส่งออกโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

“คณะผู้บริหารโรงเชือดจากประเทศจีนที่ลงพื้นที่ไปดูคอกโคขุนของเกษตรกรก็มีความพึงพอใจในสินค้าของเรา แต่ราคานั้นต้องขึ้นอยู่ที่ปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่าง แต่การเจรจาครั้งนี้โดยรวมเป็นไปด้วยดี”


ขณะที่นายนรสีห์ สุดวิลัย สหกรณ์จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดกำแพฃเพชร จะมีส่วนในการกำกับดูแลช่วยเหลือเพื่อการเชื่อมโยงธุรกิจที่จะส่งมอบวัวของสมาชิกไปสู่ผู้ค้า ซึ่งเบื้องต้นเป็นแนวโน้นที่ดี จากนี้สหกรณ์ก็จะต้องมีหน้าที่หาวัวที่มีคุณภาพดีส่งออกสู่ผู้ค้าให้ได้ ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนมีรายได้เพิ่มขึ้นและสภาพชีวิตที่กินดีอยู่ดี

นายธวัชชัย แถวถาทำ ปศุสัตว์จังหวัดกำแพงเพชร กล่าว่า ในส่วนของกรมปศุสัตว์ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกำแพงเพชร มีนโยบายที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งจะเข้ามาดูแลในส่วนของการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งหลักๆ อยู่ที่อาหารสัตว์ โดยจากนี้ไปต้องใช้เทคโนโลยีทางด้านโภชนศาสตร์สัตว์เข้ามาช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนและสร้างกำไรให้เกษตรกร ส่วนสุขภาพสัตว์เราได้จัดสัตวแพทย์ และปศุสัตว์อำเภอเข้ามาดูแลโรคต้องห้ามเป็นประจำอยู่แล้ว

นายธันฐกรณ์ ณ นคร ประธานสหกรณ์การเกษตรและปศุสัตว์กำแพงเพชร กล่าวว่า ในส่วนของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เรามีสมาชิกที่มีความชำนาญในการเลี้ยงโคขุนและวัวเพื่อการส่งออกเฺป็นระยะเวลานาน ซึ่งมีการผลักดันให้ทำการผลิตสินค้าให้เป็นมาตรฐาน GAP เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ โดยขณะนี้มีสมาชิกที่สนใจเข้าโครงการกว่า 90 ครัวเรือน หรือคิดเป็น KPI (ดัชนีความสำเร็จ) เท่ากับ 90% ซึ่งใน อนาคตจะต้องสร้างให้เป็นต้นแบบของการส่งออกที่ยั่งยืน


นางกัลยา เทียบเทียม อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 4 ม.11 ต.หินดาด อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร เกษตรกรที่เลี้ยงโคขุนมานานกว่า 15 ปี เล่าว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะมีตลาดการร้บซื้อโคขุนที่จะสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวตนเองได้ ที่ผ่านมาเราประสบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของต้นทุน และการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ประสบปัญหาภัยแล้ง จนต้องหันมาเลี้ยงโคขุน ซึ่งจากนี้สหกรณ์ที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่จะช่วยเหลือผลักดันให้ตนได้มีรายได้จุนเจือครอบครัวที่ดีขึ้น

นางสายรุ้ง สุวรรณลพ อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 101/1 ม.2 ต.หินดาด อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร เกษตรกรที่เลี้ยงโคขุนมานานกว่า 10 ปี เล่าว่า นับเป็นสัญญาณที่ดีมากที่ผ่านมาเราต้องลงทุนกับต้นทุนที่สูงทั้งพันธุ์วัวและอาหารสัตว์ แต่ขายวัวได้ในราคาที่ขาดทุน จากนี้ไปมีตลาดที่มั่นคงก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถดูแลครอบครัวเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานต่อไปได้และหมดหนี้สินในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น