xs
xsm
sm
md
lg

YouTube จ่อบล็อก ‘เพลงประท้วงฮ่องกง’ หลังศาลออกคำสั่งแบน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ยูทูบ (YouTube) ประกาศวานนี้ (14 พ.ค.) ว่าพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาลฮ่องกง โดยจะปิดกั้น 32 วิดีโอลิงก์ที่ศาลวินิจฉัยว่าเป็น “คอนเทนต์ต้องห้าม” ไม่ให้สามารถเข้าถึงได้ในฮ่องกง ขณะที่นักวิจารณ์ชี้ว่านี่คือการบ่อนทำลายเสรีภาพของประชาชน

ก่อนหน้านี้ ศาลฮ่องกงได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำขอของรัฐบาลฮ่องกงที่ให้แบนเพลง ‘Glory to Hong Kong’ ซึ่งถูกใช้โดยกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย โดยคณะผู้พิพากษาชี้ว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนอาจใช้เพลงนี้เป็น “อาวุธ” บ่อยทำลายความมั่นคงของรัฐได้

YouTube ได้วิจารณ์คำสั่งศาลครั้งนี้ โดยระบุว่ามันก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความตั้งใจของรัฐบาลฮ่องกงที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) และฟื้นฟูชื่อเสียงของเกาะฮ่องกงในฐานะเมืองซึ่งเอื้อต่อการทำธุรกิจ

“เรารู้สึกผิดหวังต่อคำสั่งของศาล แต่ก็พร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งถอดคอนเทนต์” YouTube ระบุในถ้อยแถลง พร้อมย้ำว่าทางบริษัทมีความกังวลเช่นเดียวกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหลายที่เห็นว่าการแบนคอนเทนต์ลักษณะนี้เข้าข่ายปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์

“เราจะพิจารณาทางเลือกต่างๆ ในการยื่นอุทธรณ์ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลต่อไป” YouTube ระบุ

ผู้สังเกตการณ์บางคนซึ่งรวมถึงรัฐบาลสหรัฐฯ มองว่า คำสั่งแบนจะยิ่งบ่อนทำลายภาพลักษณ์ความเป็นศูนย์กลางการเงินของฮ่องกง และทำให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับความพยายามลิดรอนเสรีภาพและการกระจายข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี

จอร์จ เฉิน ประธานร่วมของ Asia Group ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจในวอชิงตัน ดี.ซี. และอดีตหัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะของเมตา (Meta) ประจำจีนแผ่นดินใหญ่ ระบุว่า “คำถามสำคัญก็คือรัฐบาลฮ่องกงจะใช้ไม้แข็งมากขนาดไหน ถ้าคุณส่งลิงก์ให้แพลตฟอร์มต่างๆ ปิดกั้น 100-1,000 ลิงก์ในทุกๆ วัน มันจะก่อความวุ่นวายอย่างมากให้แพลตฟอร์มเหล่านั้น และทำให้นักลงทุนทั่วโลกขาดความเชื่อมั่นในความเป็นตลาดเสรีของฮ่องกง”

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ หรืออัลฟาเบ็ท (Alphabet) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google และ YouTube ยอมปิดกั้นคอนเทนต์ตามคำสั่งศาลของประเทศต่างๆ และก็เคยมีการถอดคอนเทนต์ในจีนมาแล้วเช่นกัน

ย้อนไปเมื่อปี 2010 Google ได้ทำการถอดเสิร์ชเอนจินออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ และปัจจุบัน YouTube ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ในจีน

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น