เอเจนซีส์/เอพี - น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง ทะลุวัง” ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 เสียชีวิตอย่างกะทันหันวานนี้ (14 พ.ค.) หลังอดอาหารประท้วงยาวนานระหว่างอยู่ในเรือนจำมาตั้งแต่มกราคมต้นปี ส่งผลให้มีคนจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้ “ไทย”ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต่อนักโทษทางการเมืองกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย ขณะที่บรรดาเอกอัครราชทูตประเทศมหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา รวม EU ที่ต่างเชิดชูในหลักการเสรีภาพ ความเท่าเทียม และสิทธิการแสดงความคิดเห็นต่างพากันแห่ไว้อาลัย
CNN ของสหรัฐฯ รายงานวันนี้ (15 พ.ค.) ว่า การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม นักเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มทะลุวังที่ต้องอยู่ในเรือนจำมานานเป็นเวลา 110 วัน และอดอาหารเพื่อประท้วง
และเธอถูกรู้จักในไทยว่า “บุ้ง ทะลุวัง” สื่อสหรัฐฯ ชี้ว่า การเสียชีวิตของเธอสร้างความตกตะลึงให้คนมากมายในประเทศ และได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการทางยุติธรรมของไทยที่ปัจจุบันยังคงอนุญาตให้ให้ปฏิเสธการขอประกันตัวจากเหล่านักเคลื่อนไหวทางการเมืองและถูกควบคุมตัวภายในเรือนจำในระยะเวลานานออกไปจนกว่าจะถึงวันพิจารณาคดี
แอมเนสตีสากลประจำประเทศไทยกล่าวผ่านแถลงการณ์มีใจความว่า
“นี่เป็นการเตือนความทรงจำที่น่าตกใจว่าเจ้าหน้าที่ไทยปฏิเสธอย่างโหดร้ายต่ออิสรภาพของเหล่านักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อปิดปากต่อการแสดงความไม่เห็นด้วยที่เป็นไปอย่างสันติ มีหลายคนยังคงถูกควบคุมตัวโดยสิทธิของการได้รับการประกันตัวถูกปฏิเสธ”
และเสริมต่อว่า “เหตุการณ์ที่น่าสยดสยองนี้สมควรที่จะปลุกให้เจ้าหน้าที่ไทยตื่นและถอนคดีความก่อนปล่อยตัวนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งหมด และคนอื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัวอย่างไม่เป็นธรรม”
แอมเนสตีสากลประจำประเทศไทยกล่าวต่อในรายงานของเอพีว่า “นี่ถือเป็นวันที่มืดมิดสำหรับสังคมไทย แสดงถึงการคุกคามทางกระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรงและความล้มเหลวของระบบยุติธรรมในการยอมรับสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน”
และเสริมต่อว่า “การแสดงความคิดเห็นออกมาไม่สมควรต้องนำมาสู่ความตาย มันสมควรเป็นแรงบันดาลใจต่อความเปลี่ยนแปลง”
CNN ชี้ว่าเป็นเวลานานหลายปีที่บรรดาองค์กรสิทธิมนุษยชนและบรรดานักเคลื่อนไหวเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นชี้ว่า "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" (Lèse-majesté law) ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเงียบเสียงวิจารณ์รัฐบาลไทย
กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างกล่าวเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นในไทยถูกโจมตีเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่การประท้วงปี 2020 ถึงแม้ไทยจะเปลี่ยนกลับมาจากรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนของกองทัพมาเป็นรัฐบาลผู้นำพลเมืองเมื่อปีที่แล้ว แต่ยังคงมีการเฝ้าจับตาและข่มขู่คุกคามต่อกลุมนักเคลื่อนไหวและนักเรียนนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง อ้างอิงจากกลุ่มนักกฎหมายไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights)
ทางกลุ่มกล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มต้นการประท้วงเมื่อกรกฎาคมปี 2020 มาจนถึงมีนาคม ปี 2024 พบว่ามีไม่ต่ำกว่า 1,954 คนถูกดำเนินคดีทางอาญา และโดนตั้งข้อหาการร่วมการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็น และจากจำนวนทั้งหมดมี 286 คดีมีเด็กร่วมด้วย
กลุ่มนักกฎหมายไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า และมีไม่ต่ำกว่า 270 คนถูกดำเนินคดีหมิ่น
เอพีรายงานเพิ่มเติมว่า นักการทูตจากหลายชาติและเอกอัคราชทูตจากทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา และสหภาพยุโรป EU ออกมาแสดงความไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของบุ้ง
เอกอัครราชทูตเยอรมนี แอ็นสท์ ไรเชิล (Ernest Reichel) ออกแถลงการณ์แสดงความไว้อาลัยบนแพลตฟอร์ม X มีใจความว่า
“ความหวังของผมมีว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะไม่นำมาสู่ผลที่ตามมาที่ขมขื่นและรุนแรงเช่นนี้”
เอพีรายงานว่า ผู้ที่วิพากษ์วิจาณ์ต่างออกมาชี้ว่า ความเป็นจริงของการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศของไทยนั้นขัดแย้งอย่างรุนแรงต่อความปราถนาของไทยที่จะถูกยอมรับในสายตาชาวโลกในฐานะผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน
ไทยได้ประกาศตัวลงชิงเพื่อนั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) สำหรับสมัยการดำรงตำแหน่งประจำปี 2025-2027 หลังจากรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันเข้ารับตำแหน่งในปีที่แล้ว เป็นการแสดงต่อพันธสัญญาของไทยในการปกป้องสิทธิมนุษยชน
แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มทะลุวังที่มี น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม เป็นสมาชิกนอกจากที่จะเรียกร้องปฏิรูปสถาบันและการยุติดำเนินคดีนักโทษทางการเมืองผ่านศาล ทางกลุ่มยังออกมาเรียกร้องให้ปฏิเสธการสมัครของไทยต่อเก้าอี้ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
เอพีรายงานว่า กลุ่มฮิวแมนไรท์วอชได้ออกมาแสดงความวิตกต่อการจับกุมไม่เลือกหน้าและการคุมตัวก่อนการไต่สวนพิจารณาคดีของรัฐบาลไทยเพื่อลงโทษผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบัน โดยทางกลุ่มฮิวแมนไรท์วอชกล่าวว่า เป็นการละเมิดสิทธิของคนเหล่านั้นภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ