MGR Online - เผยสภาพเส้นทางขนส่งสินค้า "ไทย-พม่า" ในรัฐกะเหรี่ยงที่ซื้อขายกันแต่ละปีหลายหมื่นล้านบาท เจอฝนถล่มจนเละ ต้องใช้ช้างมาช่วยลากจูงรถ เหตุถนนหลักถูกกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสั่งปิด เพราะเป็นพื้นที่สู้รบกับทหารพม่า ผู้ส่งออกสินค้าไทยต้องเลี่ยงไปใช้ทางสายเก่าที่ไต่ลัดเลาะขึ้นไปบนเทือกเขาแทน
ฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวันในรัฐกะเหรี่ยง เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าระหว่างไทย-พม่า ผ่านด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี เนื่องจากสภาพถนนที่ใช้ขนส่งสินค้าถูกน้ำเซาะจนผิวถนนเละเป็นดินโคลน รถทุกชนิด ทุกขนาดแทบไม่สามารถใช้การได้
ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ (27 พ.ค.) สื่อหลายแห่งของพม่าต่างทยอยเผยแพร่ภาพความยากลำบากในการสัญจรของรถทุกชนิดระหว่างเมืองเมียวดีกับเมืองกอกะเร็ก ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งรถบรรทุกสินค้า รถโดยสาร รวมถึงรถของชาวบ้านที่จำเป็นต้องใช้เดินทางทุกคัน ต้องเลี่ยงไปใช้ทางหลวงเอเชียหมายเลข 1 (AH 1) สายเก่า หรือถนนหมายเลข 1018 จากบ้านจ่อโค่-โทะก่อโก ซึ่งเป็นทางที่แคบ คดเคี้ยว ลัดเลาะขึ้นไปบนเทือกเขาดอนะแทน
สาเหตุหลักเนื่องจากถนน AH 1 สายใหม่ ช่วงเมียวดี-กอกะเร็ก ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าที่มีการซื้อขายกันระหว่างไทยและพม่า และมีสภาพถนนที่ดีกว่า ได้ถูกกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้าน (PDF) ของรัฐบาลเงา (NUG) สั่งปิด ห้ามรถทุกชนิดสัญจรผ่านตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2566 เพราะเป็นพื้นที่สู้รบระหว่าง PDF กับกองทัพพม่า นอกจากนี้ สะพานหลายแห่งบนเส้นทางช่วงนี้ยังถูก PDF ระเบิดทิ้งจนรถไม่สามารถข้ามได้
แม้ว่ากองทัพพม่าได้มีปฏิบัติการอ่องเซยะ ด้วยการเคลื่อนกำลังพลจำนวนมากจากกองบัญชาการกองทัพภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่เมืองเมาะละแหม่ง ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน เพื่อทวงคืนเมืองเมียวดีจากกลุ่ม PDF เมื่อปลายเดือนเมษายน และเพื่อเคลียร์เส้นทาง AH 1 สายใหม่ให้สามารถกลับมาใช้การได้อีกครั้งหนึ่ง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดใช้เส้นทางช่วงดังกล่าว ทำให้ผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางระหว่างเมียวดีกับกอกะเร็ก โดยเฉพาะรถบรรทุกสินค้าจากด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี ไปยังกรุงย่างกุ้ง เพื่อนำไปกระจายต่อทั่วประเทศ ยังคงต้องเลี่ยงไปใช้ถนน 1018 หรือ AH 1 สายเก่าอยู่
พ่อค้าผู้นำเข้าสินค้าในเมืองเมียวดี ต่างวิตกกังวลว่า หากเส้นทา AH 1 สายใหม่ยังไม่สามารถเปิดใช้ตลอดฤดูฝนนี้ ต้องส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทย-พม้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าที่ยาวนานขึ้น และต้นทุนในการขนส่งสินค้าต้องแพงมากขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมาก
ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือนเมษายน 2567 กระทรวงพาณิชย์พม่า ได้รายงานว่า สถานการณ์สู้รบระหว่าง PDF กับกองทัพพม่า ตามแนวถนน AH 1 ที่รุนแรงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 ได้ส่งผลให้ตัวเลขการค้าผ่านด่านชายแดนเมียวดี ในปีงบประมาณ 2566-2567 ลดวูบลงอย่างหนักถึง 43.90% จากปีงบประมาณก่อนหน้า (2565-2566) หรือคิดเป็นเม็ดเงินเท่ากับ 897.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยยอดการค้าผ่านด่านเมียวดีระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 มีมูลค่ารวม 1,147.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นการนำเข้าสินค้าจากไทย 827.19 ล้านดอลลาร์ และส่งสินค้าออกมายังไทย 320.04 ล้านดอลลาร์ เทียบกับในปีงบประมาณ 2565-2566 การค้าผ่านด่านเมียวดีมีมูลค่ารวม 2,044.98 ล้านดอลลาร์ เป็นการนำเข้า 1,321.73 ล้านดอลลาร์ และส่งออก 723.25 ล้านดอลลาร์
เฉพาะเดือนเมษายน 2567 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2567-2568 ระหว่างวันที่ 1-26 เมษายน 2567 มูลค่าการค้าผ่านด่านชายแดนเมียวดี มียอดรวมทั้งการนำเข้าและส่งออกเพียง 15.84 ล้านดอลลาร์เท่านั้น.