xs
xsm
sm
md
lg

ตอกหน้าทักษิณ! ‘ตระกูล วินิจนัยภาค’ อดีต อสส.ยุค คสช.ยันไม่เคยโดนข่มขู่ให้สอบสวนคดี 112

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



'ตระกูล วินิจนัยภาค’ อดีตอัยการสูงสุด ยุครัฐบาล คสช. โพสต์ตอบโต้ "ทักษิณ" ยืนยันไม่เคยถูกข่มขู่ให้สอบสวนคดี ‘ทักษิณ' หมิ่นเบื้องสูง ตามมาตรา 112 ตามที่กล่าวอ้าง

จากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นักโทษเด็ดขาดในคดีทุจริตที่อยู่ระหว่างการพักโทษได้กล่าวอ้างว่ากรณีที่ตนถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 นั้น เป็นเพราะพนักงานสอบสวนถูกรัฐบาลยุค คสช.ข่มขู่นั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน นายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "ตระกูล วินิจนัยภาค" ความว่า “ขอยืนยันด้วยเกียรติของลูกผู้ชายว่า ในฐานะเป็น อสส. ในขณะนั้น ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีอาญานอกราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20 ไม่เคยมีใครสั่ง ข่มขู่ โน้มน้าว ชักจูง ให้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการสอบสวนครับ”

นอกจากนี้ นายนายตระกูลยังโพสต์ตอบคอมเมนต์ภายหลังโพสต์ว่า “ท่าน อสส. พงษ์นิวัฒน์เป็นคนสั่งฟ้องหลังจากที่ ผมเป็นคนสั่งให้มีการสอบสวนดำเนินคดีนี้ ครับ “

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมานายทักษิณ ชินวัตร เดินทางมาเป็นประธานงานเลี้ยงฉลองบวช นายสมิทธิพัฒน์ หลีนวรัตน์ ลูกชายของนายกฤษฎา หลีนวรัตน์ (นายเบี้ยว) นายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรี พร้อมให้สัมภาษณ์ถึงการถูกดำเนินคดี 112 ว่าการทำคดีแต่ละข้อกล่าวหาตั้งแต่ต้นที่มีการข่มขู่ ตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวนโดยผู้บังคับบัญชา

นายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด 
สำหรับคดีนี้เป็นคดีนอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20 ที่บัญญัติไว้ว่า ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือจะมอบหมายหน้าที่นั้น ให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนก็ได้ ซึ่งนายตระกูล อัยการสูงสุดในขณะนั้นเป็นผู้ที่มีอำนาจการสอบสวนหรือสั่งตั้งพนักงานสอบสวนได้

อย่างไรก็ตามการขึ้นดำรงตำเเหน่งอัยการสูงสุดของนายตระกูล นั้นเกิดช่วงที่ คสช.ยึดอำนาจใหม่ๆ ก็ได้มีประกาศ ฉบับที่ 62/2557 ให้นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุดขณะนั้นไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และให้นายตระกูล วินิจนัยภาค รองอัยการสูงสุด ลำดับที่ 1 รักษาราชการแทนจนต่อมาได้แต่งตั้งนายตระกูล ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด


ด้าน นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ตามหลักการทั่วไป ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้จะถูกอัยการสั่งฟ้องแล้วก็ตาม ยังสามารถยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมาได้อีก ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาฯ ข้อใดห้ามไว้ โดยจะขึ้นอยู่กับเนื้อหา และพนักงานอัยการจะเป็นผู้พิจารณา หากเป็นการยื่นพยานหลักฐานใหม่ที่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ว่าไม่ได้กระทำผิด พนักงานอัยการก็อาจจะพิจารณาชะลอการสั่งฟ้องออกไปแล้ว ทำการสอบสวนใหม่

แต่ถ้าหนังสือร้องขอความเป็นธรรม มีเนื้อหาแค่การปฏิเสธ ว่าไม่ได้กระทำผิด หรือให้พิจารณาหลักฐานพยานเก่าที่เคยสอบสวนมาแล้ว ยื่นเพื่อเป็นการประวิงเวลาคดี ทางพนักงานอัยการก็มีอำนาจสั่งยุติการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมได้ และผู้ต้องหาก็ต้องเข้าสู่กระบวนการสั่งฟ้องของศาลต่อไปตามกำหนด

นายนาเคนทร์ กล่าวว่าต่อว่า สำหรับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมฉบับล่าสุดของนายทักษิณนั้น ทางท่านอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุดก็จะเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น