สหรัฐฯ จะประจำการขีปนาวุธพิสัยไกลในเยอรมนี ตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป จากคำแถลงของรัฐบาลทั้ง 2 ชาติ อาวุธนี้ในนั้นรวมถึง SM-6 และระบบโทมาฮอว์ก เคยถูกแบนในทวีปยุโรป จนกระทั่งวอชิงตันฉีกสนธิสัญญาประวัติศาสตร์ยุคสงครามเย็นในปี 2019
ในถ้อยแถลงร่วมที่เผยแพร่โดยทำเนียบขาว "สหรัฐฯ จะเริ่มประจำการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนระบบยิงขีปนาวุธพิสัยไกล เสริมศักยภาพแก่กองกำลังเฉพาะกิจหลากมิติ (MDTF: Multi-Domain Task Force) ในเยอรมนี ในปี 2026 ส่วนหนึ่งในแผนประจำการถาวรแสนยานุภาพเหล่านี้ในอนาคต
ถ้อยแถลงถูกเผยแพร่ออกมาตามหลังการเจรจาระหว่างพวกเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และเยอรมนี ณ ที่ประชุมซัมมิตนาโต ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันพุธ (10 ก.ค.)
บรรดาระบบอาวุธที่จะประจำการในเยอรมนี จะรวมไปถึงขีปนาวุธต่อต้านทางอากาศ SM-6 ซึ่งมีพิสัยทำการสูงสุด 460 กิโลเมตร และขีปนาวุธร่อนโทมาฮอว์ก ซึ่งมีรายงานว่าสามารถโจมตีเป้าหมายต่างๆ ได้ไกลกว่า 2,500 กิโลเมตร
ทำเนียบขาวระบุว่า "อาวุธไฮเปอร์โซนิกที่ผ่านการพัฒนาแล้ว" จะถูกส่งเข้าประจำการในเยอรมนีเช่นกัน "และจะมีการประจำการศักยภาพการยิงในระยะที่ไกลกว่าปัจจุบันในยุโรปด้วย"
อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้สหรัฐฯ ยังไม่ประสบความสำเร็จใดๆ ในการทดสอบอาวุธไฮเปอร์โซนิกอีกเลย และได้ยกเลิกทุกโครงการไฮเปอร์โซนิก นับตั้งแต่เคยกล่าวอ้างประสบความเร็จในการทดสอบเมื่อปี 2017
ขีปนาวุธยิงจากภาคพื้นที่มีพิสัยทำการระหว่าง 500 กิโลเมตร ถึง 5,500 กิโลเมตร ถูกแบนในแผ่นดินยุโรปภายใต้สนธิสัญญาสนธิสัญญาว่าด้วยกองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty - INF) ที่ลงนามโดย โรนัลด์ เรแกน และมิคาอิล กอร์บาชอฟ ในปี 1987 เช่นเดียวกับภายใต้ข้อตกลง START-I และ START-II
ทั้งนี้ สนธิสัญญา INF ช่วยปลดชวนความตึงเครียดในยุโรป หลังจากตะวันตกและสหภาพโซเวียตเฉียดใกล้เปิดศึกสงครามนิวเคลียร์ระหว่างการซ้อมรบทหาร Able Archer ของนาโตในปี 1983
สหรัฐฯ ถอนตัวจากสนธิสัญญา INF ในปี 2019 โดยกระทรวงการต่างประเทศอเมริกาอ้างว่าขีปนาวุธร่อนบางส่วนของรัสเซียละเมิดข้อตกลงดังกล่าว มอสโกปฏิเสธคำกล่าวอ้างและประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เตือน โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ณ ขณะนั้นว่าการถึงจุดจบของสนธิสัญญาจะนำมาซึ่งผลสนองเลวร้าย
มีรายงานว่ากองกำลังสหรัฐฯ และเดนมาร์ก ซ้อมรบด้วยขีปนาวุธ SM-6 ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ขณะที่เพนตากอนประจำการระบบอาวุธไทฟูน ซึ่งสามารถยิงทั้งได้ขีปนาวุธ SM-6 และโทมาฮอว์ก ในฟิลิปปินส์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)