xs
xsm
sm
md
lg

ฝรั่งเศสวุ่นวายไม่เลิก! ฝ่ายซ้ายเตรียมยื่นถอดถอนมาครง หลังเมินเสนอชื่อเป็นนายกฯ ทั้งที่ชนะเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



พรรค France Unbowed (LFI) แนวร่วมฝ่ายซ้ายซึ่งคว้าเก้าอี้มาได้มากที่สุดในศึกเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกรกฎาคม กำลังรวบรวมรายชื่อเพื่อทำการถอดถอนประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส หลังจาก มาครง ปฏิเสธเสนอชื่อ ลูซี คาสเตต์ แคนดิเดตของพวกเขาเป็นนายกรัฐมนตรี

"ร่างญัตติสำหรับเริ่มกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ถูกส่งถึงสมาชิกรัฐสภาแล้วในวันนี้ สำหรับร่วมลงนาม" มาทิลเด ปาโนต์ แกนนำของ LFI ในรัฐสภา เขียนบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์เมื่อวันเสาร์ (31 ส.ค.)

เพื่อเริ่มต้นกระบวนการถอดถอน ทางพรรค LFI ซึ่งมี 72 ที่นั่ง ในสมัชชาแห่งชาติ 577 ที่นั่ง จำเป็นต้องรวบรวมรายชื่ออย่างน้อย 10% ขอสมาชิกรัฐสภา ภายใต้ญัตติดังกล่าว ทั้งนี้มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ระบุไว้ว่าประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ ในกรณีละเลยต่อการทำหน้าที่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ของประธานาธิบดี

"มาครง ปฏิเสธทำตามเสียงโหวตของประชาชน ดังนั้นเราต้องปลดเขา" ปาโนต์กล่าว พร้อมแชร์ร่างญัตตินี้ ซึ่งเน้นย้ำว่า "สมัชชาแห่งชาติ (สภาล่าง) และวุฒิสภา สามารถและต้องปกป้องประชาธิปไตยต่อการโน้มเอียงเข้าหาเผด็จการของประธานาธิบดี"

บรรดาสมาชิกสภาโต้แย้งว่าการเจรจาต่อรองทางการเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับประธานาธิบดี อ้างถึงกรณีที่ มาครง พยายามหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ นับตั้งแต่ กาเบรียล อัตตาล ลาออกไปเมื่อเดือนที่แล้ว

LFI คือส่วนหนึ่งของแนวร่วมพันธมิตรนิวป็อปปูลาร์ฟรอนต์ (NFP) ร่วมกับพรรคโซเชียลิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคกรีนส์ ซึ่งโผล่ขึ้นมาในฐานะผู้ชนะในศึกเลือกตั้ง ที่มีขึ้นหลังจากมาครง ประกาศยุบสภาก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปี

อย่างไรก็ตาม พันธมิตรนี้ไม่ถึงขั้นครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด บีบให้ มาครง ต้องเข้าสู่การเจรจาเพื่อแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อวันจันทร์ (29 ก.ค.) มาครง ปฏิเสธเสนอชื่อ คาสเตต์ ข้าราชการพลเรือนซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด แต่เป็นแคนดิเดตของแนวร่วม NFP เป็นนายกรัฐมนตรี อ้างว่ารัฐบาลหนึ่งที่นำโดยฝ่ายซ้าย จะคุกคามเสถียรภาพของสถาบันการเมือง

ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนฝรั่งเศส เน้นว่าสถานการณ์เช่นนี้คงเป็นเรื่องยากในการหาตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่จะไม่ถูกเขี่ยพ้นจากตำแหน่งในทันที ในการลงมติไม่ไว้วางใจ

จนถึงตอนนี้ มาครง ยังคงเพิกเฉยแคนดิเดตของแนวร่วมนิว ป็อปปูลาร์ ฟรอนต์ และแหล่งข่าวใกล้ชิดกับเขา เผยว่าเขาเชื่อว่าสมดุลอำนาจควรขึ้นอยู่กับพรรคสายกลางหรือฝ่ายขวากลางมากกว่า

เช่นดียวกับพรรคอาร์เอ็น ซึ่งกวาดเก้าอี้มาเป็นอันดับ 3 ในศึกเลือกตั้ง เน้นย้ำว่าพวกเขาจะขัดขวางแคนดิเดตจากแนวร่วมฝ่ายซ้าย โดยอ้างว่า NFP เป็นตัวแทนของความอันตรายที่มีต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง สันติสุขของพลเมือง และแน่นอนว่าเป็นอันตรายต่อวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจของประเทศ

(ที่มา : เอเจนซี/อาร์ทีนิวส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น