xs
xsm
sm
md
lg

CCTV แฉมีการใช้สารเคมีอันตรายผลิต "เก๋ากี้" สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ฮ่องกงเป็นแหล่งรับซื้อรายใหญ่แห่งหนึ่งสำหรับเก๋ากี้ที่ผลิตในจีนแผ่นดินใหญ่ - ภาพ : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์
สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของทางการจีน ตีแผ่อุตสาหกรรมผลิตเก๋ากี้ท้องถิ่น โดยในรายงานข่าวเชิงสืบสวนเมื่อวันอาทิตย์ (1 ก.ย.) ระบุว่า เกษตรกรและพ่อค้ามีการนำโซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ และ กำมะถันในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสารเคมีต้องห้าม มาแช่และรมควันเมล็ดเก๋ากี้ ทำให้ขายได้ในราคาแพงขึ้น นับเป็นเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารครั้งใหญ่ครั้งที่สองที่เกิดขึ้นในจีนปีนี้
 
ตามกฎระเบียบความปลอดภัยด้านอาหารของจีนนั้น ห้ามการใช้โซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ และกำมะถันในอุตสาหกรรมในการแปรรูปอาหาร เนื่องจากเป็นอันตรายต่อร่างกาย

เก๋ากี้ หรือที่เรียกกันว่า โกจิเบอร์รี่ และ วูลฟ์เบอร์รี่ เป็นที่นิยมในการแพทย์แผนจีนและในการปรุงอาหาร เช่น หม้อไฟ เนื่องจากอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ซึ่งช่วยปกป้องตับและบำรุงสายตา นอกจากนั้น ยังมีการทำการตลาดว่าเป็นสุดยอดอาหารในโลกตะวันตก โดยจีนแผ่นดินใหญ่ส่งออกเก๋ากี้ประมาณ 14,000 ตันในปี 2566
 
รายงานของซีซีทีวีระบุว่า การใช้สารเคมีอันตรายในการผลิตเก๋ากี้เกิดขึ้นในมณฑลชิงไห่ และกานซูทางภาคเหนือ รวม 14 เมือง ซึ่งรวมถึงฟาร์มในเมืองโกลมุด (Golmud) มณฑลชิงไห่

 

เมล็ดเก๋ากี้ถูกนำมาตากแห้ง ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการผลิต - ภาพ : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสตฺฺ์
คนงานในฟาร์มและพ่อค้าอย่างน้อย 6 คนอธิบายวิธีการอย่างเปิดเผยต่อหน้ากล้องว่า ฟาร์มจะแช่เมล็ดเก๋ากี้ในโซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ และฉีดพ่นเมล็ดเก๋ากี้ที่ตากแดดบนลานด้วยกำมะถันทางอุตสาหกรรม เพื่อรักษาความแดงสดไว้ได้อย่างไร

พ่อค้าและคนงานในฟาร์มระบุว่า การรมกำมะถันจะทำให้เก็บเก๋ากี้ได้นานขึ้น ความเป็นพิษของมันทำให้ไม่มีแมลงศัตรูพืช สามารถขายได้ 17-18 หยวน (ราว 81-86 บาท) ต่อ 600 กรัม ถ้าไม่รมควันจะขายได้แค่ 9-10 หยวน (ราว 43-48 บาท)


พ่อค้าบางคนในมณฑลชิงไห่ยังบอกว่า ตระหนักถึงผลข้างเคียงของโซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ เมื่อบริโภคในปริมาณที่มากเกินไป เช่น การระคายเคืองผิวหนังและปัญหาระบบทางเดินหายใจ แต่เมล็ดเก๋ากี้มักสีคล้ำง่าย ไม่มีใครซื้อ ส่งผลให้การทำงานหนักของพวกตนต้องสูญเปล่า


พ่อค้าคนหนึ่งเลือกไม่ใส่สารเคมีดังกล่าว เพราะ “ไม่ดีต่อร่างกาย” แต่สุดท้ายเขาก็ขาดทุนมหาศาล


ด้านทางการเมืองโกลมุด มณฑลชิงไห่ และเขตจิงหยวน มณฑลกานซู แถลงเมื่อวันจันทร์ (2 ก.ย.) ว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อสอบสวนการผลิตเก๋ากี้อย่างผิดกฎหมายตามที่เป็นข่าวแล้ว โดยจะเปิดเผยผลการสอบสวนต่อสาธารณชนและผู้กระทำผิดจะถูกลงโทษหนักตามกฎหมาย


ทั้งนี้ การปราบปรามผู้ละเมิดความปลอดภัยด้านอาหารเป็นนโยบายสำคัญอันหนึ่งของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งเคยระบุว่า หากรัฐบาลไม่สามารถรับประกันแม้แต่ในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารได้ ประชาชนจะมองว่า รัฐบาลไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ โดยเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ปักกิ่งนิวส์ สื่อทางการจีนเพิ่งเปิดโปงกรณีมีการใช้รถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงขนน้ำมันปรุงอาหารในทันที หลังจากขนถ่ายเชื้อเพลิงโดยไม่มีการทำความสะอาดอย่างถูกต้องเสียก่อน ซึ่งกลายเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำกันจนเป็นเรื่องปกติ


ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ / บิสซิเนสอินไซเดอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น