xs
xsm
sm
md
lg

อ.เจษฎ์ ยันฉีดวัคซีนโควิด ไม่ได้ทำให้เป็นโรคฝีดาษลิง หลังพบการแชร์ข้อมูลทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



อ.เจษฎ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา โพสต์อธิบายชัดเจนฉีดวัคซีนโควิด ไม่ได้ทำให้เป็นโรคฝีดาษลิง ทั่วโลกตื่นตระหนก คนแห่แชร์ข้อมูล "ฉีดวัคซีนโควิด ทำฝีดาษลิงระบาด"

วันนี้ (7 ก.ย ) เฟซบุ๊ก “Jessada Denduangboripant“ หรือ รศ.ดร.เจษฎา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ถึงกรณีพบโลกออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลอ้างว่า การระบาดของโรคฝีดาษลิง (โรคเอ็มพอกซ์) เป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยระบุข้อความว่า “กลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีน เผยแพร่เนื้อหาประหลาดๆ จับแพะชนแกะ สร้างความหวาดกลัวกันเองอีกแล้วครับ ล่าสุด มีการอ้างว่า การระบาดของโรคฝีดาษลิง (โรคเอ็มพอกซ์) นั้น เป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนโควิด-19

โดยสำนักข่าว AFP ได้ทำการตรวจสอบเรื่องนี้ ว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างไร ! .. ขอเอามาสรุปตามนี้ครับ

- มีคำกล่าวอ้างเท็จ ถูกแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลก หลังพบการแพร่ระบาดของเอ็มพ็อกซ์ (MPOX) ในแอฟริกา อ้างข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ของแพทย์ชาวเยอรมัน ซึ่งเคยเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโคโรนาไวรัส

- โดยระบุว่า "ดร. วูล์ฟกัง วอดาร์ก เตือนว่า โรคฝีดาษลิงเป็นกลลวงอีกชนิดหนึ่ง และแท้จริงแล้วคือ โรคงูสวัด ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนโควิด" และ "กระแสโฆษณาเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงในปัจจุบัน เป็นเพียงการสร้างความกลัว โดยผู้มีอำนาจที่ทุจริต ซึ่งพยายามปกปิดอาการของวัคซีน ที่เรียกว่าวัคซีนโควิด"

- เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 วูล์ฟกัง วอดาร์ก ได้ให้สัมภาษณ์กับ AUF1 สถานีโทรทัศน์ฝั่งอนุรักษนิยมของออสเตรเลีย ที่มักจะสนับสนุนกฤษฎีสมคบคิดและเผยแพร่ข่าวเท็จ อ้างว่า อาการของเอ็มพ็อกซ์นั้น เหมือนกับอาการของโรคงูสวัด และวงการเภสัชกรรมพยายามจะทำให้ผู้คนตื่นกลัว โดยการใช้ผลข้างเคียงของโคโรนาไวรัส เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ ๆ หากทำการตรวจทดสอบโรคเอ็มพ็อกซ์ในผู้ป่วยโรคงูสวัด จะทำให้แสดงผลเป็นผลบวกปลอมได้เช่นกัน (ไม่ได้ติดเชื้อ แต่ให้ผลการทดสอบเป็นบวก)

- อย่างไรก็ตาม วอดาร์กไม่ได้แสดงหลักฐานใด ๆ ในการสัมภาษณ์เพื่อสนับสนุนคำกล่าวอ้างต่าง ๆ ของเขา

- คำกล่าวอ้างนี้ ปรากฏหลังองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ประกาศให้การระบาดของโรคเอ็มพอกซ์ (mpox) หรือชื่อเดิมคือฝีดาษลิง (monkeypox) ในหลายพื้นที่ของทวีปแอฟริกา ให้เป็น "ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ" เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 โดยมีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 208 ราย และผู้ติดเชื้อมากกว่า 99,000 คนใน 116 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 จนถึงเดือนมิถุนายน 2567

- แต่เอ็มพ็อกซ์ เป็นโรคติดต่อที่ถูกค้นพบ "ก่อน" การแพร่ระบาดของโควิด-19 มานานกว่าครึ่งศตวรรษ ไวรัสเอ็มพ็อกซ์ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในลิง เมื่อปี พ.ศ. 2501 ในเดนมาร์ก จึงถูกเรียกว่าโรคฝีดาษลิง ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 พบการติดเชื้อในมนุษย์ ในพื้นที่ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปัจจุบัน

- โรคเอ็มพ็อกซ์เกิดจากการการติดต่อของไวรัส จากสัตว์ที่ติดเชื้อ สู่คน และยังสามารถติดต่อจากคนสู่คน ผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ทำให้มีอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อ และผื่นคล้ายเม็ดพุพองบริเวณผิวหนัง

- แต่องค์การอนามัยโลกก็ยืนยันว่า ภาวะการระบาดของเอ็มพ็อกซ์ "ไม่" รุนแรงเหมือนโควิด-19 เพียงแต่ว่าการยืนยันว่าผู้ป่วยติดเชื้อเอ็มพ็อกซ์นั้น อาจจะยาก เนื่องจากลักษณะการติดเชื้อและอาการต่าง ๆ มีความคล้ายกับโรคอื่น รวมถึงโรคเริมด้วย

- ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การระบาดของเอ็มพ็อกซ์ไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19

- โดยศาสตราจารย์ หยวน ควอกยัง ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและนักจุลชีววิทยาจากคณะแพทยศาสตร์ลีกาชิง มหาวิทยาลัยฮ่องกง ระบุว่า คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับเอ็มพ็อกซ์นี้ เป็นเท็จ !

- ศาสตราจารย์หยวนระบุกับ AFP ว่า "วัคซีนโควิด-19 ไม่ได้เป็นสาเหตุหรือผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดเอ็มพ็อกซ์ เนื่องจากเอ็มพ็อกซ์มักเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ" และ "การตรวจเอ็มพ็อกซ์แบบพีซีอาร์นั้น มีความเฉพาะเจาะจงอย่างมาก และไม่น่าเกิดผลบวกปลอมได้ หากผ่านกระบวนการตรวจอย่างเหมาะสม"

- เดวิด เฮย์แมนน์ ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อ จากวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน (LSHTM) มหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวกับ AFP ว่า "ไม่มีเหตุผล ที่จะระบุว่าการแพร่ระบาดของเอ็มพ็อกซ์มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด"

ภาพและข้อมูลจาก https://factcheckthailand.afp.com/doc.afp.com.36F46FG

คลิกอ่านโพสต์ต้นฉบับ
กำลังโหลดความคิดเห็น