xs
xsm
sm
md
lg

“รัสเซีย” ได้ใจคนจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่นถูกมองเชิงลบกว่าเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ธงชาติรัสเซียและธงชาติจีน - ภาพ : ซินหัว
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยชิงหวาในกรุงปักกิ่งระบุ มีชาวจีนเพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อปีที่แล้ว ที่คาดการณ์ว่าความสัมพันธ์จีน-สหรัฐอเมริกาจะถดถอยลงอีกในช่วงห้าปีข้างหน้า การเข้ามาก้าวก่ายของต่างชาติต่อกรณีไต้หวันเป็นข้อวิตกกังวลใหญ่ด้านความมั่นคงในหมู่ผู้ตอบแบบสอบถาม

ผลการสำรวจความมั่นคงระหว่างประเทศในทัศนะของชาวจีน ( Chinese Outlook on International Security) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ ( 30 ก.ย. ) เป็นการสำรวจประจำปีโดยศูนย์ความมั่นคงและยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (CISS) ในสังกัดมหาวิทยาลัยชิงหวา มีการสอบถามความคิดเห็นของชาวจีน 2,662 คน เกี่ยวกับชาติมหาอำนาจต่าง ๆ โดยผู้แสดงความนิยมชมชอบรัสเซียอย่างมาก หรือค่อนข้างนิยมชมชอบมีมากถึงร้อยละ 66

ในทางกลับกัน ผู้แสดงความไม่พอใจสหรัฐฯมีมากเกือบร้อยละ 76 และญี่ปุ่นเกือบร้อยละ 81 โดยเมื่อวัดคะแนนจากระดับ 1 ถึงระดับ “พอใจมาก” คือระดับ 5 นั้น สหรัฐฯได้ 1.85 คะแนนลดลงจาก 2.19 คะแนนเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ความไม่พอใจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่รัฐบาลและนโยบายของสหรัฐฯมากกว่าประชาชนอเมริกาทั่วไป

ส่วนญี่ปุ่นซึ่งขัดแย้งกับจีนมายาวนานในหลายประเด็น เช่น ประวัติศาสตร์ในช่วงสงคราม และข้อพิพาทเรื่องอาณาเขต ได้คะแนนต่ำสุดในปีนี้คือ 1.68 คะแนน ลดลงจาก 2.19 คะแนนเมื่อปีที่แล้ว

อินเดีย ซึ่งมีข้อพิพาทชายแดนกับจีนได้ 2.01 คะแนน

ผลสำรวจมีข้อน่าสังเกตว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าร้อยละ 70 แสดงความเห็นกลาง ๆ ต่อประชาชนอเมริกัน ซึ่งตง ถิง นักวิจัยของ CISS ผู้ร่วมการเขียนรายงานผลสำรวจฉบับนี้ชี้ว่า บ่งบอกถึงการขาดความเข้าใจกันอย่างลึกซึ่งระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ ดังนั้น การขยายสัมพันธภาพให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นระหว่างประชาชนด้วยกันก็อาจช่วยบรรเทาความตึงเครียดปักกิ่ง-วอชิงตัน ซึ่งแข่งขันกันรุนแรงขึ้นด้านเทคโนโลยีและอิทธิพลในโลก อย่างไรก็ตาม หากวอชิงตันแข่งขันกับจีนโดยหวังผลเพียงแค่แพ้-ชนะ และรวมหัวกับชาติอื่นเป็นปรปักษ์กับจีน ไมตรีจิตที่มีอยู่ในระดับประชาชนก็อาจเจือจางได้เช่นกัน

มีคำถามแบบปรนัยข้อหนึ่ง ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบร้อยละ 90 เชื่อว่าวอชิงตันกำลังพยายามจำกัดการพัฒนาของจีน และผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งหนึ่งเชื่อว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ถดถอยลงนั้นเกิดจากความแตกต่างพื้นฐานในค่านิยม และผลประโยชน์ของทั้งสองชาติ

ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์
กำลังโหลดความคิดเห็น