xs
xsm
sm
md
lg

สภา กทม.ไฟเขียวขึ้นค่าเก็บขยะ บ้านที่ไม่คัดแยกขยะ 60 บาท/เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เข้าร่วมประชุม

โดยในระเบียบวาระที่ 4.1 คณะกรรมการวิสามัญฯ รายงานผลการพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. … เพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 และวาระที่ 3

ซึ่งที่ประชุมสภา กทม. ไม่มีการแปรญัตติ และไม่มีคณะกรรมการสงวนความเห็น จากนั้นที่ประชุมจึงได้โหวตร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าว ผลการโหวตคือ เห็นชอบ 34 คน ไม่เห็นชอบ 0 คน งดออกเสียง 2 คน จากผู้เข้าประชุม 36 คน โดยจะมีการประกาศใช้ข้อบัญญัติในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติดังกล่าว เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมมือลดและคัดแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างจริงจังและปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสภาวการณ์และภาระค่าใช้จ่าย โดยเมื่อปี 2562 กรุงเทพมหานครมีการขึ้นค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยในหมู่บ้านจัดสรรเพิ่มจาก 20 บาท เป็น 80 บาทต่อเดือน ซึ่งจากการดำเนินการ พบว่ามีข้อเรียกร้องถึงการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสูงเกินไป จึงมีการจัดทำร่างข้อบัญญัติขึ้นใหม่ โดยมีการจัดเก็บเป็น 2 ราคา แบ่งเป็น กรณีบ้านทั่วไปที่มีการแยกขยะ คิดค่าบริการเดือนละ 20 บาทต่อเดือน โดยมีเงื่อนไขว่า ขยะต่อวันต้องไม่เกิน 4 กิโลกรัม หรือ 20 ลิตร หากบ้านใดไม่มีการคัดแยกขยะจะเสียค่าบริการ 60 บาทต่อเดือน โดยคาดว่าข้อบัญญัติฯ จะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้มีการประสานงานกับสำนักงานเขตทุกเขตให้ประชาสัมพันธ์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรูปแบบใหม่แก่ประชาชน ในพื้นที่ต่างๆ ได้รับทราบ รวมทั้งรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะในครัวเรือน เพื่อจะได้ลดรายจ่ายค่าบริการ จากการสำรวจพบว่า บ้านพักในกรุงเทพฯ ประมาณ 2 ล้านหลังคาเรือน อย่างไรก็ตาม จากการที่สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานเขต สำรวจในเบื้องต้นพบว่า มีประชาชนเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวแล้วประมาณ 50,000 หลังคาเรือน จากนี้จะมีการสำรวจไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำผลมาเทียบเคียงเป็นระยะ