ร่างกฎหมายของออสเตรเลีย ห้ามเด็กต่ำกว่าอายุ 16 ปีใช้โซเชียลมีเดียผ่านวุฒิสภาฉลุยในวันพฤหัสบดี (28 พ.ย.) หลังสภาล่างรับรองไปก่อนแล้วเมื่อวันพุธ (27) และจะกลายเป็นกฎหมายเนื้อหาเช่นนี้ฉบับแรกของโลกในเร็ววันนี้
ร่างกฎหมายนี้จะทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหลาย เป็นต้นว่า ติ๊กต็อก เฟซบุ๊ก สแนปแชต เรดดิต เอ็กซ์ และอินสตาแกรม ต้องจ่ายค่าปรับสูงถึง 50 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,117.5 ล้านบาท) หากไม่สามารถป้องกันไม่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปีสร้างบัญชีและเข้าใช้งานบนแพลตฟอร์ม โดยที่เมื่อกลายเป็นกฎหมายอย่างสมบูรณ์ แพลตฟอร์มต่างๆ จะมีเวลาหนึ่งปีในการดำเนินการห้ามเยาวชนจากแพลตฟอร์ม ไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษปรับ ขณะที่ในระยะเวลา 1 ปีก่อนมีการลงโทษนี้ จะมีการทดลองวิธีการต่างๆ ในการบังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎหมาย
วุฒิสภาออสเตรเลียผ่านร่างกฎหมายนี้ด้วยคะแนน 34 ต่อ 19 หลังจาก 1 วันก่อนหน้านั้น สภาผู้แทนราษฎรลงนามรับรองด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 102 ต่อ 13
เนื่องจากในการพิจารณาของวุฒิสภา มีการเห็นชอบให้แก้ไขข้อความบางตอนในกฎหมายตามที่ฝ่ายค้านเสนอ ดังนั้น จึงต้องนำกลับมาให้สภาล่างพิจารณาเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง จึงจะถือเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ แต่ก็เห็นกันว่านี่เป็นเพียงการปฏิบัติตามรูปแบบเท่านั้น เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลประกาศแล้วว่า สภาล่างจะผ่านให้แน่นอน โดยคาดว่าจะทำได้ทันในวันศุกร์ (30)
“ร่างกฎหมายอายุขั้นต่ำใช้สื่อสังคม” (Social Media Minimum Age bill) ฉบับนี้ ทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นกรณีทดสอบสำหรับบรรดารัฐบาลที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลก ซึ่งมีการออกกฎหมายมุ่งจำกัดอายุผู้ใช้โซเชียลมีเดียแล้ว หรือประกาศออกมาว่ามีแผนการจะออกกฎหมายดังกล่าว สืบเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสื่อสังคมที่มีต่อสุขภาพจิตของผู้เยาว์
หลายประเทศ เป็นต้นว่า ฝรั่งเศส ตลอดจนบางรัฐในสหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายจำกัดการเข้าถึงสื่อสังคมของผู้เยาว์หากไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง ทว่าร่างกฎหมายออสเตรเลียนี้เป็นการสั่งแบนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก่อนหน้านี้ รัฐฟลอริดาในสหรัฐฯ ก็มีการผ่านร่างกฎหมายห้ามเด็ดขาดสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปีเช่นกัน ทว่ากำลังถูกฟ้องร้องในศาลด้วยข้อโต้แย้งว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
การที่กฎหมายนี้ผ่านออกมาได้ภายหลังการอภิปรายอย่างมาราธอนในวันพฤหัสฯ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุมปีนี้ของรัฐสภาออสเตรเลีย มองกันว่าเป็นชัยชนะทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีแอนโธนี อัลบานีส ที่มีหัวกลาง-ซ้าย ซึ่งจะต้องลงสนามเลือกตั้งในปี 2025 ท่ามกลางผลโพลที่ชี้ว่าคะแนนนิยมของเขากำลังหดลดลงเรื่อยๆ ทั้งนี้ การแบนเช่นนี้มีเสียงคัดค้านจากพวกที่สนับสนุนสิทธิความเป็นส่วนตัว ตลอดจนกลุ่มสิทธิเด็กบางกลุ่ม ทว่าตามผลโพลล่าสุด ประชากรถึง 77% ทีเดียวต้องการให้ออกกฎหมายฉบับนี้
จากภูมิหลังที่มีการไต่สวนของรัฐสภาตลอดปี 2024 ซึ่งมีการรับฟังหลักฐานจากพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ ที่เผชิญความลำบากเดือดร้อนและทำร้ายตัวเอง สืบเนื่องจากกูกบูลลี่ทางโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดกระแสสื่อมวลชนภายในประเทศหนุนหลังการแบนเช่นนี้ นำโดย บริษัทนิวส์ คอร์ป ของเจ้าพ่อสื่อ รูเพิร์ต เมอร์ด็อค ซึ่งเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์รายใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย ด้วยแคมเปญรณรงค์ที่ใช้ชื่อว่า “ปล่อยให้พวกเขาเป็นเด็กๆ เถอะ” (Let Them Be Kids)
อย่างไรก็ดี การแบนเช่นนี้อาจสร้างความเขม็งเกลียวให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับสหรัฐฯ โดยที่ อีลอน มัสก์ เจ้าของแพลตฟอร์ม X ซึ่งกำลังเป็นบุคคลศูนย์กลางสำคัญคนหนึ่งในคณะบริหารของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวไว้ในโพสต์หนึ่งในเดือนนี้ว่า เรื่องที่เกิดขึ้นดูเหมือนกับ “เป็นวิธีการใช้ประตูหลังเพื่อควบคุมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของชาวออสเตรเลียทั้งหลาย”
นอกจากนั้น กฎหมายนี้ยังกลายเป็นการเพิ่มเติมอารมณ์ความรู้สึกแห่งความเป็นปรปักษ์กันซึ่งเกิดขึ้นอยู่แล้วระหว่างออสเตรเลียกับพวกยักษ์เทคที่ส่วนใหญ่ตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ สืบเนื่องจากออสเตรเลียเป็นชาติแรกในโลกที่บังคับให้พวกแพลตฟอร์มสื่อสังคมต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่พวกค่ายสื่อมวลชน จากการนำเอาคอนเทนต์ของค่ายเหล่านี้ไปใช้ ไม่เพียงเท่านั้น เวลานี้แดนจิงโจ้ยังมีแผนการที่จะข่มขู่พวกโซเชียลมีเดียว่าจะถูกปรับเงิน หากบกพร่องล้มเหลวไม่กำจัดกวาดล้างพวกอาศัยแพลตฟอร์มเหล่านี้ทำการทุจริตคดโกงต่างๆ
เฉพาะสำหรับกฎหมายแบนเด็กต่ำกว่าอายุ 16 ปี ทางโฆษกของเมตา ซึ่งเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก แถลงว่า ทางบริษัทเคารพกฎหมายออสเตรเลีย แต่มีความ “กังวล” เกี่ยวกระบวนการ เนื่องจากมีการผลักดันร่างกฎหมายนี้ออกมาอย่างเร่งร้อน ขณะที่บกพร่องล้มเหลวไม่ได้มีการพิจารณาอย่างเหมาะสมถึงหลักฐานในเรื่องที่อุตสาหกรรมโซเชียลมีเดียได้กระทำอยู่แล้วเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้จะได้รับประสบการณ์อย่างเหมาะสมตามวัย ตลอดจนบกพร่องล้มเหลวไม่ได้รับฟังปากเสียงของผู้เยาว์
ด้าน ดิจิตอล อินดัสตรี กรุ๊ป อิงค์ หรือดิจิ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนสนับสนุนให้แก่พวกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในออสเตรเลีย ก็ออกคำแถลงในทำนองเดียวกันว่า ยังคงมีคำถามว่ากฎหมายนี้จะมีผลกระทบอย่างไรต่อเด็กๆ รวมทั้งรากฐานทางเทคนิคและขนาดขอบเขตของการบังคับใช้กฎหมายนี้จะเป็นเช่นไร
“ร่างกฎหมายแบนสื่อสังคมนี้ถูกเผยแพร่ออกมาและผ่านรัฐสภาภายในเวลาแค่ 1 สัปดาห์ ผลอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ไม่มีใครสามารถอธิบายได้อย่างมั่นใจว่ามันจะทำงานอย่างไรในเชิงการปฏิบัติ ทั้งประชาคมและแพลตฟอร์มทั้งหลายต่างอยู่ในความมืดมนในเรื่องที่ว่ากฎหมายนี้เรียกร้องต้องการอะไรแน่ๆ จากพวกเขา” สุนิตา โบส กรรมการผู้จัดการของ ดิจิ ระบุในคำแถลง
ขณะที่พรรคการเมืองใหญ่ๆ ทั้งหลายต่างสนับสนุนการแบน แต่กลุ่มรณรงค์เพื่อสวัสดิภาพและสุขภาพจิตของเด็กจำนวนมาก ยังคงแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลพวงต่อเนื่องที่ไม่ได้ตั้งใจ
แจ็กกี้ แลมบี้ วุฒิสมาชิกที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ร้องเรียนว่า รัฐบาลให้เวลาจำกัดมากในการอภิปรายร่างกฎหมายนี้ที่เธอเห็นว่า เป็นไอเดียที่ดีแต่ขาดรายละเอียด
ทว่า มาเรีย โควาซิก วุฒิสมาชิกจากฝ่ายค้าน มองว่า ประเด็นหลักของร่างกฎหมายนี้คือ เรียกร้องให้บริษัทโซเชียลมีเดียดำเนินการขั้นตอนที่เหมาะสมและปิดกั้นผู้ใช้ที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำมานานแล้วแต่บริษัทเหล่านั้นกลับให้ความสำคัญกับกำไรมากกว่า
ขณะที่วุฒิสมาชิกเดวิด ชูบริดจ์ จากพรรคกรีนส์ ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเห็นว่า การแบนอาจเป็นอันตรายเนื่องจากเป็นการโดดเดี่ยวเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI) ที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการหาการสนับสนุนและกำลังใจ
ยังมีผู้แสดงความคิดเห็นหลายคนวิจารณ์ว่า มีการเร่งรัดผลักดันร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภาโดยไม่ได้ตรวจสอบอย่างเหมาะสม ไร้ประสิทธิภาพ สร้างความเสี่ยงด้านความเป็นส่วนตัวต่อผู้ใช้ทั้งหมด และบ่อนทำลายอำนาจการตัดสินใจของพ่อแม่
ผู้คัดค้านบางคนยังระบุว่า ร่างกฎหมายนี้จะโดดเดี่ยวเด็ก ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงแง่มุมดีๆ จากโซเชียล และผลักดันเด็กเข้าสู่เว็บมืด ปิดกั้นไม่ให้เยาวชนที่ถูกมองว่าเด็กเกินไปสำหรับโซเชียล ในการรายงานอันตราย และลดทอนแรงจูงใจสำหรับแพลตฟอร์มในการปรับปรุงความปลอดภัยบนโลกออนไลน์
(ที่มา : เอพี, รอยเตอร์)