ผบ.ตร. เผยยังไม่พบประเทศเพื่อนบ้านใช้ไฟฟ้าจากทางการไทย เดินหน้าล้มเสาสัญญาณต่อเนื่อง เพื่อเป็นการตัดเส้นเลือดแก๊งคอลเซ็นเตอร์
วันนี้ (29 ม.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีการตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ของประเทศเพื่อนบ้านที่อาจถูกนำไปใช้สำหรับการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี ว่า เรื่องการตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ได้มีการประสานทาง กสทช. และจากการตรวจสอบ โดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีพบว่า สิ่งที่เกี่ยวข้องและองค์ประกอบบุคคล เส้นทางการเงินและเสาสัญญาณ ขณะนี้เรามีข้อมูล และมีการประสานกับประเทศกัมพูชา ประเทศเมียนมา และประเทศลาวโดยมีพล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้เดินทางไปพูดคุยกับประเทศเหล่านี้ทั้งหมดแล้ว
"ตอนนี้ไทยมีความพยายามที่จะนำผู้ที่มีหมายจับกลับมาดำเนินคดีส่วนเรื่องเส้นทางการเงินได้มีการประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อทำการระงับยับยั้งธุรกรรมการเงินที่ผิดปกติ ซึ่งธปท.ได้ให้ความร่วมมือดีมากและอยู่ระหว่างให้แต่ละองค์กร หน่วยงานขับเคลื่อนเดินหน้าในหน้าที่ของตนเอง ส่วนเรื่องเสาสัญญาณพบว่ามีเสาสัญญาณที่น่าจะเชื่อว่า เป็นการให้สัญญาณ กับทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน แต่ได้มีการประสานงานยกเลิกพร้อมล้มเสา และหันกลับมาให้คนไทยใช้งานในหลายจุด ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการต่อไป เพื่อเป็นการตัดเส้นเลือดในเรื่องของการใช้งานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์" ผบ.ตร.กล่าวและว่า ส่วนเรื่องการลักลอบใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย เบื้องต้นเป็นเรื่องของการใช้เครื่องปั่นไฟ แต่การใช้ไฟของราชการไทยนั้นขณะนี้ยังไม่พบข้อมูล
ส่วนของเรื่องการคัดกรองบุคคล ผบ.ตร. กล่าวว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ร่วมพิจารณา ใช้ตม. 6 ออนไลน์คือการกรองข้อมูลของผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศ แต่อาจมีการแออัดที่ช่องผ่านตรวจคนเข้าเมือง จึงได้ทำเรื่องแบบออนไลน์ ซึ่งมีลักษณะเหมือนการที่เดินทางเข้าไปประเทศอื่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาน่าจะเกิดเร็วที่สุด และมีการจัดทำข้อมูล โดยมอบให้กับกองบังคับการสืบสวน สตม.เป็นผู้รับผิดชอบ ถึงแม้ว่าในขณะนี้ประเทศไทยเน้นในเรื่องการท่องเที่ยวและมีการฟรีวีซ่า แต่การตรวจคนเข้าเมืองจะวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่ในคลังข้อมูลของสตม.ว่า มีใครเข้ามาผิดปกติ และอยู่นานเกินไปหรือไม่ พร้อมตรวจสอบความถี่ในการเดินทางเพื่อใช้ในการคัดแยกและติดตาม
"ต้องดูในเรื่องของต้นทางว่าใคร มาจากไหนข้ามประเทศไทยเป็นทางผ่าน และมีการกำหนดห้วงเวลา 7 ช่วงและมาตรการอย่างชัดเจนให้หน่วยปฏิบัติทั้งหมดดำเนินการ ยืนยันว่าตำรวจไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้คนถูกหลอกไปทำงาน และถูกบังคับไปใช้งาน ซึ่งจะโยงไปกับเรื่องการค้ามนุษย์ และเมื่อเราตัดต้นทางได้ปลายทางก็จะไม่เกิดและในวันนี้นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน" พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าว
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวด้วยว่า ได้ทำการประสานกับสถานทูตของประเทศนั้นๆให้ประชาสัมพันธ์ ว่าการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย หากได้รับการชักชวนต้องระงับยับยั้ง ให้รู้ด้วยเพื่อไม่ให้บุคคลเหล่านี้เข้ามาแบบผิดกฎหมายและทำเรื่องผิดกฎหมาย หรือถูกหลอกลวงเข้ามาและหากสกัดได้ก็จะไม่มีคำว่าประเทศไทยเป็นทางผ่านอีกต่อไป ตอนนี้ตำรวจกำลังพยายามทำเรื่องดังกล่าวอยู่