xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดรฟท.เคาะซื้อรถโดยสาร 184 คัน 2.4 หมื่นล้านบาท ปรับสเปกเป็นไฮบริดแบตเตอรี่ชงครม.เร่งประมูลก.ย.68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บอร์ด รฟท.ไฟเขียวจัดซื้อรถดีเซลรางปรับอากาศ พร้อมอะไหล่ 184 คันวงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท เปลี่ยนสเปกจาก Bi-mode DEMU (ดีเซลจ่ายไฟฟ้าเหนือหัว)เป็นไฮบริด(ดีเซลผสมแบตเตอรี่ไฟฟ้า) เร่งชงครม.ตั้งเป้าประมูลก.ย.68 ใช้ทดแทนรถเดิมอายุกว่า 30 ปี รองรับทางคู่ ช่วยเพิ่มรายได้รถเชิงพาณิชย์ มั่นใจสศช.-สนข.เห็นชอบ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน วันนี้ (29 ม.ค. 2568) มีมติเห็นโครงการจัดหารถดีเซลรางปรับอากาศ พร้อมอะไหล่ จำนวน 184 คัน วงเงินรวมทั้งสิ้น 24,150.00 ล้านบาท (สองหมื่นสี่พันหนึ่งร้อยห้าสิบล้านบาทถ้วน) แบ่งเป็น รถกำลังดีเซลรางปรับอากาศมีห้องขับ จำนวน 92 คัน วงเงิน 12,075.00 ล้านบาท และรถกำลังดีเซลรางปรับอากาศไม่มีห้องขับ จำนวน 92 คันวงเงิน 12,075.00 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยคันละ 131.25 ล้านบาท ด้วยวิธีการจัดซื้อ ประกวดราคาทางอีเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยใช้เงินกู้ ที่รฟท. เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายและกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ เพื่อนำมาทดแทนรถดีเซลรางปรับอากาศเดิมที่มีการจัดหาครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2538 ที่มีอายุการใช้งานมากว่า 30 ปี ตลอดจนเป็นการรองรับการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานทั้งโครงการก่อสร้างทางคู่ระยะที่ 1 - 2 รวมถึงโครงการทางรถไฟสายใหม่ในอนาคต

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ รฟท.จะสรุปรายละเอียดโครงการฯ นำเสนอกระทรวงคมนาคม ได้ภายในเดือนก.พ. 68 และรับความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กรมการขนส่งทางราง (ขร.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติต่อไป

ทั้งนี้ หาก ครม.อนุมัติโครงการ รฟท. จะประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอประกวดราคา ก.ย.68 และพิจารณาผลการคัดเลือกได้ภายในเดือน ก.ค. 2569 ลงนามสัญญาในปลายปี 2569 ใช้เวลาผลิตและขนส่งส่งมอบ 40 เดือน แบ่งการส่งมอบ 3 ล็อต ๆ ละ 60 คัน คาดว่าจะสามารถให้บริการครบทั้ง 184 คัน ภายในเดือนเม.ย. 2573 ซึ่งการจัดหารถโดยสารดังกล่าวอยู่ในแผนฟื้นฟู การรถไฟฯ เพื่อเพิ่มรายได้ในด้านการขนส่งผู้โดยสาร โดยมีเป้าหมายเพิ่มรถโดยสารเป็น 900 คันในปี 2580 และสอดคล้องกับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในการก่อสร้างทางคู่ระยะที่ 1 และ 2 ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2571 และโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2572 ซึ่งมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 3,154 กิโลเมตร


@เปลี่ยนรูปแบบจ่ายไฟเหนือหัวเป็นไฮบริด+แบตเตอรี่ ลดค่าลงทุน

นายวีริศกล่าวว่า โครงการจัดหารถดีเซลรางปรับอากาศ พร้อมอะไหล่ จำนวน 184 คันบอร์ดรฟท.เคยอนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2563 โดยเป็นรถ Bi-mode DEMU มีวงเงินจัดหาค่าตัวรถ 14,260 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยคันละ 77.50 ล้านบาท) และใช้ระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือหัว (Overhead Catenary ) ซึ่งมีค่าลงทุนโครงสร้างจ่ายไฟอีกเฉลี่ย 40-80 ล้านบาทต่อกม. รฟท.เสนอนำร่องก่อสร้างระยะทาง 40 กม. ก่อนมีวงเงินอีกประมาณ 2,400 ล้านบาท แต่สนข.ให้ความเห็นมีความเห็นควรดำเนินการรัศมี 200 กม.จะเหมาะสมกว่า ซึ่งทำให้ค่าระบบจ่ายไฟฟ้าสูงถึง 12,000 ล้านบาท รวมกับวงเงินตัวรถลงทุนทั้งสิ้น 26,260 ล้านบาท และในอนาคตจะต้องลงทุนอีกเป็นแสนล้านบาท เพื่อรองรับรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ประกอบกับช่วงโควิด -19 โครงการจึงหยุดชะงัก

รฟท.จึงพิจารณาทบทวนน ปรับเป็นรถดีเซลรางประเภท Hybrid DEMU ( Hybrid Diesel Electric Multiple Unit) ใช้แหล่งพลังงานในการขับเคลื่อน 2 แหล่ง จากเครื่องยนต์ดีเซล และจากพลังงานแบตเตอรี่ ค่าลงทุนเหลือเพียงการจัดหาตัวรถ 24,000 ล้านบาท ส่วนราคาตัวรถเพิ่มขึ้น จาก 77 ล้านบาท/คัน เป็น 131 ล้านบาท/คัน ปรับตามระยะเวลาที่ผ่านมา 4 ปี

“ทางสภาพัฒน์มีข้อสังเกตุเรื่องหนี้สะสมของรฟท.ซึ่งการมีรถโดยสารใหม่ จะเป็นการสร้างรายได้เพิ่มและตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารเพราะเป็นรถปรับอากาศ ชั้น1 และชั้น 2 และเพิ่มการเดินทางด้วยระบบราง และสอดรับกับพ.ร.บ.ขนส่งทางราง ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้รางด้วย ดังนั้นเชื่อว่าจะเป็นการลงทุนที่เหมาะสม”นายวีริศกล่าว

สำหรับรถดีเซลรางปรับอากาศ 184 คัน จะจัดชุดบริการ 4 คันต่อขบวน เป็นรถชั้น1 และชั้น 2 มีเป้าหมายเพื่อนำมาทดแทนขบวนรถที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสารระยะไกลในปัจจุบัน จำนวน 10 ขบวน และสำหรับนำมาเปิดเดินขบวนรถเพิ่ม รองรับการขยายเส้นทางในโครงการก่อสร้างทางคู่ระยะที่ 1 – 2 จำนวน 52 ขบวน แบ่งเป็นเส้นทางระยะกลาง 46 ขบวน และระยะไกล 6 ขบวน รวมทั้งสิ้น 62 ขบวน ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย และแผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 (แผนฟื้นฟูการรถไฟแห่งประเทศไทย) ที่จะเข้ามาเพิ่มบทบาทการให้บริการขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมในการเดินทางเชิงพาณิชย์อย่างยิ่ง ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับการขนส่งรูปแบบอื่น ที่จะทำให้เกิดการปรับรูปแบบการเดินทางของผู้ใช้บริการมาใช้ระบบรางมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางของผู้ใช้บริการ ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ลดปัญหาการจราจรติดขัด ที่สำคัญยังลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะมลภาวะทางอากาศ และลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนนลงได้อีกด้วย

ทั้งนี้ การรถไฟฯ มีแผนนำรถดีเซลรางปรับอากาศ มาพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทั้งการออกแบบภายในและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกบนขบวนรถ จำนวน 62 ขบวน ประกอบด้วย

1. การทดแทนขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศที่จัดเดินในปัจจุบัน จำนวน 10 ขบวน ในเส้นทางสวรรคโลก จำนวน 2 ขบวน, เชียงใหม่ จำนวน 2 ขบวน, อุบลราชธานี จำนวน 2 ขบวน และสุราษฎร์ธานี จำนวน 4 ขบวน

2. การเปิดเดินขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศเพิ่มขึ้นจากเดิม เพื่อรองรับทางคู่ระยะที่ 1 และ 2 เส้นทางระยะกลาง จำนวน 9 เส้นทาง รวม 46 ขบวนต่อวัน ในเส้นทางพิษณุโลก จำนวน 10 ขบวน, นครราชสีมา จำนวน 10 ขบวน, ขอนแก่น จำนวน 6 ขบวน, ชุมพร จำนวน 8 ขบวน, สุราษฎร์ธานี จำนวน 2 ขบวน, นครราชสีมา – จุกเสม็ด จำนวน 4 ขบวน,
ชุมพร – กันตัง จำนวน 2 ขบวน, ชุมพร – นครศรีธรรมราช จำนวน 2 ขบวน และชุมพร – ยะลา จำนวน 2 ขบวน

3. การเปิดเดินขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศเพิ่มขึ้นจากเดิม เพื่อรองรับทางคู่ระยะที่ 1 และ 2 เส้นทางระยะไกล จำนวน 3 เส้นทาง รวม 6 ขบวนต่อวัน ในเส้นทางเชียงใหม่ จำนวน 2 ขบวน, อุบลราชธานี จำนวน 2 ขบวนและหนองคาย จำนวน 2 ขบวน
กำลังโหลดความคิดเห็น