xs
xsm
sm
md
lg

กกพ.ยันข้อเสนอ “ลดค่าไฟ17สต.”ทำได้ ลุ้นภาครัฐเจรจายกเลิกสัญญาAdder

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กกพ.ลั่นข้อเสนอยกเลิกสัญญาAdder ช่วยลดค่าไฟ 17สต./หน่วยทำได้ โดยภาคนโยบายต้องเจรจาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมต่อสังคม ส่วนค่าไฟฟ้ารอบใหม่เตรียมรับฟังความคิดเห็น 7มี.ค.นี้ ส่วนแผนปฏิบัติการงานกำกับกิจการพลังงาน ปี 68 ดัน “ไฟฟ้าสะอาด” เต็มรูปแบบเสร็จก่อนสิ้นปีนี้

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยตามที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่าไม่สามารถยกเลิกสัญญา Adder (ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า) จากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก(เอสพีพี) และขนาดเล็กมาก(วีเอสพีพี)ได้ตามที่กกพ.ได้เสนอแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 17สต./หน่วยนั้น ทางกกพ.เห็นว่าสามารถทำได้ แต่ต้องมีการเจรจากับผู้ประกอบการเอสพีพีและวีเอสพีพีที่ได้กำไรจากสัญญาAdderดังกล่าว เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคนโยบายจะต้องพูดคุยหารือแนวทางร่วมกัน โดยกกพ.ในฐานะผู้กำกับดูแลด้านพลังงานยินดีที่จะสนับสนุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ส่วนข้อกังวลด้านกฎหมายนั้น ก็จำเป็นต้องหารือในส่วนของแต่ละสัญญา อย่างไรก็ตามในส่วนของข้อเสนอการลดค่าไฟ 40 สตางค์ต่อหน่วยโดยการปรับพอร์ต Pool Gas ให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ระหว่างการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าและการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมนั้น เป็นนโยบายของ รมว.พลังงาน ส่วนจะมีแนวทางเช่นไร คงต้องติดตามและรอการชี้แจงต่อสาธารณชนต่อไป

นายพูลพัฒน์ กล่าวถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้างวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค.68)ว่ากกพ. เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟงวดใหม่ในวันที่ 7 มีนาคมนี้ จากงวดปัจจุบันอยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย ซึ่งทิศทางจะปรับลดลงหรือไม่นั้นขึ้นกับค่าเชื้อเพลิง โดยราคา LNG ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่ปัจจุบันปรับขึ้นมาอยู่ที่ 17 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนตัวลง มีผลต่อมูลค่าการนำเข้าเชื้อเพลิง

“เป็นที่ทราบกันดีว่า เราอยู่ในเทรนด์ของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากพลังงานดั้งเดิมไปสู่พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดเปลี่ยนเร็วมาก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสุดท้ายคือให้พลังงานสะอาดเข้ามาทดแทนพลังงานดั้งเดิมได้ทั้งหมด และต้องตอบโจทย์ของการทำให้เกิดความมั่นคงและความมีเสถียรภาพให้ได้ ผมมองว่าวันนี้เทคโนโลยีไปถึงเป้าหมายแล้ว แต่ราคายังไม่สามารถไปถึงเป้าหมาย เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนบางอย่างเช่น แสงแดดและลม ถูกลงเรื่อยๆ แต่บางชนิดก็ยังแพงเช่น ไฮโดรเจนสีเขียว หรือเรียกสั้นๆ ว่า กรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen) และเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน ก็ยังแพงอยู่มากสำหรับประเทศไทย”นายพูลพัฒน์ กล่าว


สำหรับแผนงานกกพ.ในปี 2568 ภายใต้กรอบ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การเริ่มให้บริการ-ไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff1: UGT1) ในเดือนเมษายน 2568 ซึ่ง กฟผ. กฟน. และ กฟภ. จัดเตรียม UGT1 ไว้รองรับความต้องการเป็นปริมาณรวมประมาณ 2,000 ล้านหน่วยต่อปี สำหรับการเปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าเจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff2: UGT2) ที่รองรับความต้องการเป็นปริมาณรวมประมาณ 8,000 ล้านหน่วยต่อปี จะเริ่มเปิดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าลงทะเบียนสมัครใช้บริการภายในเดือนมิถุนายน 2568 รวมถึงการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการรับรองแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นสะพานไปสู่การพัฒนาตลาดไฟฟ้าสีเขียวและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในอนาคต

2. กำกับกิจการไฟฟ้าตามนโยบายโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA ได้แก่ จัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการการใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม และการกำกับติดตามการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA Code) ตามนโยบาย Direct PPA ซึ่งปัจจุบัน อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เพื่อกำหนดกรอบการดำเนินการร่วมกันตามมติ กพช. ซึ่งในส่วนงานที่สำนักงาน กกพ. รับผิดชอบ คาดว่าแล้วเสร็จภายในกันยายน 2568

3. กำกับกิจการก๊าซธรรมชาติตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 โดย จัดทำแนวทางการบริหารการใช้ LNG Terminal แบบเสมือน (Virtual Inventory) และเสนอต่อภาคนโยบายภายในเดือนกันยายน 2568 เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการใช้งาน LNG Terminal ร่วมกันระหว่างผู้ใช้บริการหลายราย ตลอดจนจัดทำระบบข้อมูลราคาก๊าซ (Pool Gas) ทั้งประมาณการราคา และราคา Pool Gas จริง เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาต ผู้ใช้พลังงานสามารถเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ในมิติของความมั่นคงทางพลังงาน ภายหลังจากที่ กกพ. มีการออกระเบียบ กกพ. ว่าด้วยมาตรฐานวิศวกรรมและความปลอดภัยในการประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567 ก็จะมีการกำกับผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติ ให้ดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดภายในปี 2568

4. ดำเนินการพัฒนากลไกการกำกับกิจการพลังงานเพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีพลิกโฉม (Disruptive Technology) โดยดำเนินการศึกษารูปแบบการดำเนินการสำหรับ Disruptive Technology ต่างๆ ในต่างประเทศ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้สำหรับประเทศไทย ได้แก่ การตอบสนองด้านโหลด (Demand Response), Microgrid, RE Forecast, Aggregator, Battery Storage และ EV และจัดทำข้อกำหนดหรือปรับปรุงแก้ไขระเบียบหรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องรองรับ Disruptive Technology ต่างๆ รวมถึงจัดทำคู่มือการกำกับกิจการพลังงานรองรับ Disruptive Technology ตามแผนการขับเคลื่อน Smart Grid คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในกันยายน 2568
กำลังโหลดความคิดเห็น