“คมนาคม”สั่ง ขบ.-ทล.สำรวจจุดเสี่ยงถนนลงเขาลาดชัด จัดโซนนิ่งห้ามรถ 2 ชั้นแบบเช่าเหมาผ่าน "แม่ฮ่องสอน น่าน และทล. 304" พร้อมปรับปรุงป้ายเตือน เพิ่มคนขับ 2 คน ระยะทาง 400 กม. เพิ่มระบบเตือนล่วงหน้าใน GPS ขบ.เผยคุมกำเนิดรถ 2 ชั้นห้ามจดทะเบียนตั้งแต่ปี 60
วันที่ 4 มี.ค. 2568 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมเร่งรัดมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะไม่ประจำทาง (30) หลังจากกรณีเหตุการณ์ รถโดยสารไม่ประจำทาง หมายเลขทะเบียน 30-0040 บึงกาฬ บรรทุกเจ้าหน้าที่คณะดูงานเทศบาลพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ จำนวน 49 ราย (รวมคนขับรถ) เสียหลักพลิกคว่ำตกข้างทาง บริเวณ ทล.304 ทางลงเขาศาลปู่โทน ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อเวลาประมาณ 03.09 น. ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีผู้โดยสารเสียชีวิต 18 ราย และบาดเจ็บ 31 ราย
นายสุรพงษ์กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ และนำบทเรียนที่เกิดขึ้น กำหนดมาตรการเพิ่มเติม เป็นแผนปฎิบัติการและมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะร่วมกัน เพื่อยกมาตรฐานในทุกมิติ ซึ่ง ขบ. รายงานว่า จากการตรวจสอบพบสาเหตุหลักเกิดจากพนักงานขับรถใช้ความเร็วไม่เหมาะสมกับเส้นทางลงเขาที่เป็นทางโค้งต่อเนื่องระยะทางกว่า 5 กม. ซึ่งตามหลักต้องใช้เกียร์ต่ำและความเร็วไม่เกิน 40 กม./ชม. แต่พบว่า รถใช้เกียร์ 3 และมีความเร็วมากถึง 80 กม./ชม. ส่งผลให้รถเสียหลักเฉี่ยวชนกับแผงกั้นแบ่งช่องทางจราจรด้านซ้าย (แบริเออร์) และพลิกตะแคง โดยไม่พบร่องรอยการเบรก
โดยที่ประชุมได้วางแนวทางและกำหนดมาตรการป้องกันอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะไม่ประจำทาง และจุดเสี่ยงบริเวณที่เกิดเหตุ ดังนี้
1. มิติด้านยานพาหนะ กำหนดเขตพื้นที่ (Zoning) ถนนที่มีความลาดชันมาก เส้นทางที่มีความเสี่ยงและมีข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ห้ามรถโดยสาร 2 ชั้นไม่ประจำทาง หรือรถ 30 วิ่ง รวมทั้งศึกษายกระดับระบบ GPS ที่ติดอยู่ในรถโดยสารทุกคันแล้ว โดยเพิ่มการใช้งานในเชิงป้องกันสื่อสาร 2 ทาง ให้ระบบสามารถแจ้งเตือนผู้ขับขี่ล่วงหน้า ในจุดที่มีความเสี่ยงและเกิดอุบัติเหตุ เพื่อเตือนการใช้ความเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 4 เดือน บังคับใช้กลุ่มรถ 30 ก่อน รวมถึงการจัดทำ Safety Ratings รถโดยสารสาธารณะ และการเร่งรัดแผน/มาตรการด้านความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะให้มีความปลอดภัยทุกมิติ
ซึ่งได้มีการหารือกับกรมทางหลวง (ทล.) ร่วมกัน สำรวจพื้นที่จุดเสี่ยงทั่วประเทศ เพื่อกำหนดโซนนิ่งที่จะห้ามรถโดยสาร 2 ชั้นไม่ประจำทางผ่าน และให้ไปใช้เส้นทางอื่นแทน ส่วนรถโดยสาร 2 ชั้นแบบประจำทาง ยังคงผ่านได้ เบื้องต้นเส้นทางลงเขาที่มีความลาดชันสูง เช่น ในพื้นที่แม่ฮ่องสอน ตาก และทล.304 เป็นต้น โดยจะมีความชัดเจนก่อนเทศกาลสงกรานต์ นอกจากนี้ จะดำเนินการก่อสร้างจุดพักรถเพิ่มเติม โดยจัดทำเป็นแผนดำเนินงาน (Timeline) เสนอมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นวาระพิจารณาเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมและเป็นรูปธรรมต่อไป
2. มิติด้านผู้ขับขี่ เพิ่มความเข้มข้นหลักสูตรสำหรับผู้ขับรถบริเวณที่มีทางลาดชัน เช่น การใช้เกียร์ การตรวจสอบมาตรวัดแรงดันลม เป็นต้น และพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องชั่วโมงการขับรถเกินกฎหมายกำหนด เพิ่มเรื่องการวิ่งระยะทาง 400 – 500 กม. ต้องมีคนขับรถ 2 คน และพนักงานประจำรถ 1 คน เหมือนรถประจำทาง จากเดิมที่มีเพียงการหยุดพักรถทุก 200 -300 กม.เท่านั้น
2. มิติด้านถนนและสิ่งแวดล้อม ให้ติดตั้งป้ายเตือนจุดเสี่ยง (Black Spot) ป้ายแนะนำการขับรถลงเขาให้ใช้เกียร์ 2 เท่านั้น จากปัจจุบันจะแนะนำใช้เกียร์ต่ำ ซึ่งอาจจะไม่เข้มข้นชัดเจนพอ รวมถึงป้ายเตือนรถโดยสารให้เข้าจุดลงเวลารถโดยสาร และป้ายเตือนล่วงหน้าก่อนถึงช่องหยุดรถฉุกเฉิน นอกจากนี้ ให้ซ่อมแซมแบริเออร์ และเสาไฟส่องสว่างที่ชำรุดในจุดเกิดเหตุ ให้สามารถใช้งานได้ รวมถึงพิจารณาเพิ่มความสูงแบริเออร์ จาก 80 ซม.เป็น 110 ซม.ในจุดที่มีความเสี่ยงว
4. มิติด้านการบังคับใช้กฎหมาย ย้ายจุด Check Point รถโดยสารสาธารณะบน ทล.304 ไปอยู่ อีกฝั่ง เนื่องจากปัจจุบันจุดดังกล่าวเส้นทางขาขึ้น - ขาล่องอยู่ฝั่งเดียวกัน
5. มิติด้านการประชาสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการขนส่งเข้าจุดพักรถโดยสารตามข้อบังคับพนักงานจราจรจังหวัดปราจีนบุรี
นายสุรพงษ์กล่าวว่า หลักการตอนนี้คือ จะยกระดับมาตรฐานรถโดยสารไม่ประจำทาง (30) ให้เท่ากับ รถโดยสารประจำทาง (20) พยายามให้มีผลกระทบต่อทุกภาคส่วนน้อยที่สุด เป้าหมายเป็นเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิต ดังนั้นต้องบังคับใช้กฎหมายต้องแข็งแรง ดังนั้นให้ ขบ.หารือกับผู้เกี่ยวข้องให้เข้าใจก่อน ต้องมีการลงทุนเพื่อเพิ่มความมาตรฐาน
@ขบ.ยกเลิกจดทะเบียนคุมกำเนิดรถ 2 ชั้นตั้งแต่ปี 60
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน รถโดยสาร 2 ชั้น มีเกือบ 7,000 คัน ที่ผ่านมาได้มีการทบทวนหลักเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยของตัวรถ และมีการออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ส่วนควบ ปรับลดความสูงของรถโดยสาร 2 ชั้นไม่เกิน 4 เมตร จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 4.30 เมตร โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2560 และต้องผ่านการทดสอบการทรงตัว เช่นเดียวกับรถโดยสารที่มีความสูงเกิน 3.60 เมตร เพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยด้วย
“ตั้งแต่ปี 2560 ไม่มีการจดทะเบียนรถโดยสาร 2 ชั้น เพราะความสูงที่ 4 เมตรไม่ได้ต่อเป็นรถ 2 ชั้นได้ แต่กฎหมายไม่ได้ย้อนหลังดังนั้นรถเดิมที่มีก่อนปี 2560 ก็ยังคงใช้งานต่อไปแต่ต้องผ่านการตรวจสภาพตามระเบียบ “