กกต.ยกคำพิพากษาศาลอาญาทุจริตฯ สู้ปมปล่อยฮั้วเลือก สว. ชี้คำพิพากษายืนยันชัดผู้สมัครเอาโพยเข้าสถานที่เลือกไม่ผิด เหตุไม่มี กม.ห้าม และ กกต.ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อพบมีการซุกซ่อนนำโพยเข้าไป ได้ยึดไม่ได้ยินยอมให้นำเข้าไป
วันนี้(6มี.ค.)สำนักงานกกต.ได้สรุปคำพิพากษา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขดำที่ อท 125/2567 คดีหมายเลขแดงที่ อท 13/2568 ลงวันที่ 28 ม.ค.68 กรณีการนำเอกสารหรือโพยเข้าไปในสถานที่เลือกสมาชิกวุฒิสภา โดย ประเด็นที่ 1 การนำเอกสารหรือโพยเข้าไปยังสถานที่เลือกสมาชิกวุฒิสภา ได้หรือไม่
ศาลมีคำพิพากษาว่า ในเรื่องการนำโพยหรือเอกสารที่มีการจดหมายเลขของผู้สมัครอื่นเข้าไปใน เขตเลือกตั้ง ตาม พรป. สว. พ.ศ. 2561 มิได้มีข้อห้ามไว้โดยตรง จึงเห็นได้ว่ากฎหมายมิได้กำหนดว่า การนำเอกสาร รวมทั้งเอกสารที่จดหมายเลขผู้สมัครอื่นเข้าไปในเขตเลือกตั้งเป็นความผิดในตัวเอง ดังนั้น เมื่อไม่มี กฎหมายกำหนดห้าม หรือกำหนดเป็นความผิดไว้ผู้สมัครย่อมมีสิทธินำเอกสารใดเข้าไปในเขตเลือกตั้งได้ ในทางกลับกัน การห้ามมิให้ผู้สมัครนำเอกสารใดเข้าไปในสถานที่เลือกคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงจะกระทำมิได้ อย่างไรก็ตาม ก่อนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการเลือกตั้ง ได้ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ข้อ 7 วรรคสอง กำหนดว่า "เอกสารแนะนำตัว ตามวรรคหนึ่ง จะแจกจ่ายหรือนำเข้าไปในสถานที่เลือกไม่ได้” อันหมายถึงว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจ ออกระเบียบห้ามมิให้ผู้สมัครนำเอกสารแนะนำตัวเข้าไปในสถานที่เลือกสมาชิกวุฒิสภา แต่ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้เพิกถอนข้อ 7 วรรคสอง ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว จึงไม่มีผลบังคับ ผู้สมัครมีสิทธินำเอกสารแนะนำตัวเข้าไปในสถานที่เลือก และเหตุในเบื้องต้นทำให้เห็นว่าเอกสารอื่นที่ไม่มีกฎหมายห้ามหรือกำหนดเป็นความผิดไว้ ผู้สมัครก็ย่อมนำเข้าไปในสถานที่เลือกได้ ดังนั้น เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนด ห้ามหรือกำหนดเป็นความผิดไว้ ผู้สมัครย่อมมีสิทธินำเอกสารใดเข้าในสถานที่เลือกได้ การห้ามมิให้ผู้สมัคร นำเอกสารใดเข้าไปในสถานที่เลือก กกต. กระทำมิได้
ประเด็นที่ 2 และประเด็นที่ 3 โพยผิดกฎหมายหรือไม่ และ กกต. ระงับยับยั้งการเลือกสมาชิก วุฒิสภาที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม หรือไม่
ศาลมีคำพิพากษาว่า การนำโพยหรือเอกสารที่จดหมายเลขผู้สมัครเข้ามาในสถานที่เลือก สว. ที่ศูนย์การค้า อิมแพค เมืองทองธานี กฎหมายมิได้กำหนดว่าการนำเอกสาร รวมทั้งเอกสารที่จดหมายเลขผู้สมัครอื่น เข้าไปในเขตเลือกตั้งเป็นความผิดในตัวเอง อย่างไรก็ตาม กกต. ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมเลือก สว. ให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม โดยศาลเห็นว่า ก่อนที่ กกต. จะมีคำสั่งใด ๆ อันจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้สมัคร เพื่อให้คงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง นั้น กกต. ต้องตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของเงื่อนไขว่า “มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” หรือ “มีเหตุอันควรสงสัยว่า” มิใช่ กกต. จะสามารถใช้อำนาจได้โดยไม่มีมูลฐาน
แห่งเหตุอันควร เพราะการใช้อำนาจต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้เท่านั้น ก่อนการเลือก รอบที่ 2 ในระดับประเทศ คณะกรรมการการเลือกตั้ง 1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง ต่อมา คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติ เพื่อควบคุมมิให้การเลือกมิเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อันเป็นการป้องปรามเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ในสถานที่เลือก
นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ไปดำเนินการให้เป็นไปตามที่ได้มีคำสั่งด้วยแล้วกรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่อย่างใด การมีมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งและการดำเนินการตามมติของเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ) ที่ได้รับมอบหมายดังกล่าว ก็สัมฤทธิ์ผล ดังปรากฏตามคำฟ้องว่าเมื่อมีผู้ซุกซ่อนนำโพยเข้าไป ก็ได้มีการยึดและไม่ได้ยินยอมให้มีการนำเข้าไป ซึ่งเอกสารใด ๆ เข้ามาในเขตเลือกตั้งในรอบที่ 2 ในการเลือกระดับประเทศ จึงเป็นการกระทำตามมติของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง
ทั้งนี้คำพิพากษาดังกล่าวเป็นกรณีที่พ.ต.อ.สมพล เรืองเกตุพันธ์ุ และพวกรวม 7 คนซึ่งเป็นผู้สมัครสว.ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและบางคนผ่านเข้าสู่การเลือกรอบประเทศ ยื่นฟ้องกกต 7 คนและเลขาธิการกกต.ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. และพ.ร.ป.ว่าด้วยป ป.ช. โดยปัจจุบันคดีดังกล่าว
อยู่ระหว่างโจทก์ขอขยาย อุทธรณ์ครั้งที่ 2