อธิบดีกรมทางหลวง-ประธานบอร์ด กทพ.ลงพื้นที่ตรวจเหตุคานทางด่วน "พระราม 3-ดาวคะนอง" ถล่ม มุ่งปมโครงสร้างรับน้ำหนักไม่ไหว รอสอบไม่เกิน 1 เดือน เรื่องด่วนเร่งเคลียร์พื้นที่เปิดจราจร “ผู้ว่าฯ กทพ.” ปัดลาออก ชี้ไม่ทำให้คนตายฟื้นขึ้นมา
วันที่ 16 มีนาคม 2568 ที่ไซต์งานก่อสร้างโครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก หน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษดาวคะนอง ทางพิเศษเฉลิมมหานคร นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข ผู้ว่าการ กทพ. ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุคานสะพานทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนองทรุดตัว
@ 7 วันเคลียร์เปิดขาเข้า กทม.-ขาออกขอเวลาซ่อม 1 เดือน
นายอภิรัฐกล่าวว่า จะดำเนินการกู้คืนพื้นที่ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนสูงสุด ซึ่งช่องทางขาเข้า คาดว่าจะใช้เวลา 7 วันในการเคลียร์พื้นที่เพื่อเปิดเส้นทาง ขณะที่พื้นที่ขาออกซึ่งเป็นส่วนของสะพานในโครงการทางด่วนเฉลิมมหานคร จากที่สำรวจพบว่ามีทางสัญจรเสียหายไป 1 ช่องจราจร โดยสอบถามจากผู้ว่าฯ กทพ.ได้ความว่าอยู่ระหว่างการหล่อคานสำเร็จรูป เพื่อนำมาติดตั้งและซ่อมแซมทาง คาดว่าจะใช้เวลา 30 วันในการซ่อมแซม ส่วนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ผู้ว่าฯ กทพ.ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว และเท่าที่ดูก็ไม่พบผู้สูญหายแล้ว
จากการตรวจสอบพบว่าสาเหตุเบื้องต้นเกิดจากตัวโครงสร้างไม่สามารถรับน้ำหนักได้ จึงทำให้คานสะพานเกิดการทรุดตัว ทั้งนี้ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ร่วมดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัย พร้อมทั้งให้รายงานความคืบหน้ามายังกระทรวงคมนาคมอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะทราบข้อเท็จจริงภายใน 30 วัน
นายอภิรัฐกล่าวว่า ผู้รับเหมาที่ทำงานเป็นผู้รับเหมาชั้นพิเศษมีความสามารถในการทำงานอยู่แล้ว ไม่มีประเด็นอะไร แต่จะมีบ้างคือข้อผิดพลาดในส่วนของคนงาน (Human Error) ซึ่งได้มีการกำชับว่าต้องเข้มข้น
@ลงโทษรับเหมา รอระเบียบกรมบัญชีกลาง
ส่วนการลงโทษผู้รับเหมาหรือไม่ นายอภิรัฐกล่าวว่า มาตรการลงโทษจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. มาตรการที่กำหนดในสัญญา ทั้งการสั่งหยุดงานหรืออื่นๆ ที่กทพ.ทำได้เลย และ 2. มาตรการที่หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจต้องเข้มข้นกว่าเดิม โดยมีมาตรการสมุดพกผู้รับเหมา เพื่อเพิ่มความเข้มข้นมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยคาดว่ากรมบัญชีกลางจะออกระเบียบในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งหน่วยงานรัฐก็เตรียมความพร้อมที่จะปฏิบัติตาม และเน้นย้ำการทำงานที่จะต้องปลอดภัยมากขึ้น
ส่วนที่มีรายงานว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จะเข้ามาตรวจสอบ นายอภิรัฐกล่าวว่า ถ้ามีประเด็นเข้ามาก็พร้อมที่จะตอบ ข้อมูลมีพร้อมหมด มั่นใจว่าจะตอบได้ทั้งหมด
@แบ่งซอยสัญญาให้รับเหมา ไม่ใช่ประเด็นอุบัติเหตุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นการแบ่งซอยสัญญางานมากเกินไป เป็นเรื่องที่จะต้องมีการทบทวนด้วยหรือไม่ เพราะอาจจะมีผลต่อศักยภาพของผู้รับเหมาได้ นายอภิรัฐตอบว่า จะมีการทบทวน เพราะเมื่อมีสมุดพกออกมาจะชัดเจนเลยว่าผู้รับเหมาไหนมีศักยภาพ หรืออาจจะมีการกำหนดคุณสมบัติพิเศษขึ้น เช่น กรณีการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ซึ่งมีลักษณะเป็นการก่อสร้างบนพื้นที่เปิด ที่มีการจราจรคับคั่ง จะต้องมีการกำหนดคุณสมบัติผู้รับเหมาว่าควรเป็นอย่างไร
ส่วนการซอยสัญญาออกมาเยอะนั้น เพราะมีเงื่อนไขว่า จะต้องก่อสร้างโครงการให้เสร็จใน 3 ปี และการทำงานต่างๆ หากได้ผู้รับเหมาที่มีศักยภาพมาช่วยกัน ก็เชื่อได้ว่าการก่อสร้างน่าจะรวดเร็วขึ้น
นายอภิรัฐกล่าวว่า การซอยย่อยสัญญามีหลักการและเหตุผลว่าด้วยความรวดเร็วในการทำงาน เนื้องาน งบประมาณ ไม่มีเรื่องทุจริต ส่วนจะมีการล็อกสเปกวัสดุก่อสร้างนั้น จากประสบการณ์การเอาวัสดุมาใช้จะมีการสุ่มเก็บตัวอย่าง ผ่านการทดสอบหมด ไม่ว่าจะหน่วยงานไหนเป็นไปตามที่กำหนดไว้ทั้งหมด
@เชื่อเป็นอุบัติเหตุ
ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าฯ กทพ.กล่าวว่า ยังสรุปสาเหตุของอุบัติเหตุตอนนี้ไม่ได้ ต้องตรวจสอบหลักฐานให้ครบถ้วนก่อน ตอนนี้เรื่องด่วนคือต้องเคลียร์พื้นที่ให้ประชาชนใช้ทางให้ได้ก่อน ส่วนที่มีการคาดเดาว่ามาจากการเทปูนคอนกรีตเป็นจำนวนมากนั้น ตนเห็นว่าเป็นเรื่องของตัวโครงสร้างที่รับน้ำหนักไม่ไหวมากกว่า ขอให้รอการสอบสวน ซึ่งคณะกรรมการจะเริ่มทำงานหลังจากเคลียร์พื้นที่เสร็จ มีระยะเวลาทำงาน 20 วัน
“ผมคิดว่ามันเป็นอุบัติเหตุ ไม่มีใครอยากให้เกิด โครงสร้างถ้าทำเสร็จแล้ว ไม่ถล่มลงมาแน่ๆ ส่วนมากจะเป็นเรื่องระหว่างก่อสร้าง ซึ่งแต่ละอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีคาแรกเตอร์ของมัน ต้องถอดบทเรียนต่อไป มาตรการที่กระทรวงวางไว้ครอบคลุมอยู่แล้ว ถ้าพบว่าเหตุผลที่เกิดอุบัติเหตุอยู่นอกเหนือมาตรการที่วางไว้ จะต้องเพิ่ม และต้องหาตัวผู้ที่ละเมิดไม่ทำตามมาตรการ”
ส่วนกรณีดรามาวิศกรคุมงานที่เสียชีวิตไม่มีประสบการณ์ในการคุมงาน นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า ขอรับเรื่องไว้ตรวจสอบ และมีการเรียกผู้รับเหมามาหารือกันอยู่ทุกวัน ถ้าพบความบกพร่องก็ต้องไล่เบี้ยตามสัญญา
@ปัดลาออก ชี้ไม่ทำให้คนตายฟื้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก จะพิจารณาลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า ถ้าผมผูกเหล็กเอง ก่อสร้างเอง ก็จะรับผิดชอบ แล้วการที่ผมลาออกก็ไม่ทำให้คนตายฟื้นขึ้นมาได้ ผมคิดว่าต้องมาดูว่าผมละเว้นหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่อย่างไร ผมคิดว่าถ้าลาออกคงต้องลาออกกันทั้งประเทศ หรือทั้งกรม ผมคิดว่าเอาสะใจได้ ผมคิดอย่างนี้ ผมจะเมกชัวร์ว่าผู้ที่ทำงานบกพร่อง หรือประมาทเลินเล่อ ผู้เสียหายต้องได้รับความเป็นธรรม ผู้ที่ประมาทเลินเล่อก็ต้องชดใช้