รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เผยเตรียมตั้งงบ 150 ล้านบาท ปรับพื้นที่สระมรกต สูบน้ำออก ปูพื้นใหม่ กั้นห้องกระจกทำห้องสมุด โค-เวิร์คกิ้งสเปซ เชื่อมีประโยชน์กว่าเป็นสระน้ำเพื่อความสวยงาม พบที่ผ่านมามีคนตกลงไปแล้วกว่า 70 คน โดยเฉพาะคนที่ไม่คุ้นชินสถานที่
วันนี้ (21 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เปิดเผยว่า สระมรกตที่ตั้งอยู่ภายในอาคารรัฐสภา หรือ สัปปายะสภาสถาน ได้รับการร้องเรียนว่า มียุงจำนวนมากจากสระมรกต เข้ามารบกวนการทำงานข้าราชการที่มาปฎิบัติงานภายในอาคาร เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก อีกครั้งพบว่ามีปัญหาพื้นของบ่อน้ำรั่วซึม มีน้ำจากสระมรกตไหลลงไปที่ชั้นบีหนึ่ง (B1) อยู่เป็นประจำ
จากการปรึกษากับวิศวกร และฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ได้ข้อสรุปว่าจะสูบน้ำออกแล้วปิดพื้นที่ ปูพื้นใหม่ให้เสมอกับทางเดิน แล้วกั้นห้องกระจกขึ้นมาทำเป็นห้องสมุด พื้นที่อ่านหนังสือ พื่นที่พักคอย หรือพื้นที่ทำงาน (Co-Working Space) โดยตั้งงบประมาณไว้ 150 ล้านบาท คาดว่าอีกไม่นานก็จะเสร็จ ซึ่งหากปรับเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ลักษณะนี้ ก็จะสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่าการเป็นเพียงแค่สระน้ำเพื่อความสวยงามเท่านั้น
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า อาคารรัฐสภา หรือมีชื่อเรียกว่า สัปปายะสถาสถาน ออกแบบโดยกลุ่มสถาปนิก สงบ ๑๐๕๑ ภายใต้การนำของนายธีรพล นิยม โดยสระมรกต เป็นสระน้ำสีเขียวเข้มภายในอาคาร ล้อมรอบตัวอาคารเป็นผนังไม้สีมะเกลือดำ ถูกออกแบบมาให้มีความเย็นมากกว่าภายนอก เมื่อมีความร้อนสะสม อากาศยกตัวขึ้น อากาศเย็นจากด้านล่างจะเผื่อแผ่กระจายความเย็นขึ้นไปยังทางเดินรอบๆ ที่เป็นพื้นที่เปิด โถงนี้จะมีสภาวะน่าสบายอยู่เสมอ ถึงแม้ภายนอกจะร้อนมากในฤดูร้อนก็ตาม
โดยอาคารรัฐสภา ถนนสามเสน ก่อสร้างด้วยงบประมาณ 12,280 ล้านบาท มีบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชาญวีรกูลเป็นผู้รับเหมาหลัก ก่อสร้างเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2556 เปิดใช้งานเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 นับตั้งแต่เปิดใช้อาคารเป็นต้นมา มีอุบัติเหตุคนตกลงไปในสระมรกตแล้วมากกว่า 70 คน ส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่คุ้นชินกับพื้นที่ เนื่องจากสระน้ำมีระดับเสมอกับทางเดิน และยังพบว่าครั้งหนึ่งเคยมีตัวเงินตัวทองเข้ามาเล่นน้ำในสระมรกตอีกด้วย