ทีมค้นหาเหตุการณ์ตึกจตุจักรถล่มยุติค้นหาชั่วคราว เพื่อปรับแผนใหม่ ใช้รถใหญ่ช่วยค้นหาและขนเศษซากของตึกออกจากที่เกิดเหตุ ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 7 ราย ด้านรองผู้ว่าฯ สตง. เผยก่อสร้างเมื่อปี 63 แต่ได้หยุดไปจากปัญหาโควิดฯ คืบหน้า 30% ขณะนี้เร่งตรวจสอบความเสียหายเพิ่มเติม
วันนี้ (29 มี.ค.) จากกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด ศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา รับรู้แรงสั่นสะเทือนถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่งผลให้อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างบริเวณถนนกำแพงเพชร 2 แขวงและเขตจตุจักร กรุงเทพฯ พังถล่มลงมาเมื่อวานนี้ (28 มี.ค.) ล่าสุดเมื่อเวลา 05.00 น. ปฎิบัติการค้นหาผู้ที่ติดอยู่ในซากอาคารได้หยุดปฎิบัติหน้าที่ชั่วคราวเพื่อปรับแผนใหม่ โดยจะเริ่มเข้าค้นหาใหม่หลังจากประชุมทีมบริหารเหตุการณ์ นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนท์ เริ่มประชุมเวลา 09.00 น. และมีการส่งทีมเข้าไปสำรวจบริเวณโดยรอบเพื่อนประเมินจุดที่จะสามารถเข้าช่วยเหลือได้เพื่อนำข้อมูลเข้าที่ประชุม
ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ประชุมชุดบริหารเหตุการณ์ประสานข้อมูลขอให้ทางตำรวจเตรียมอำนวยความสะดวกเส้นทางในการจราจร หลังจากการประชุมจะมีการเคลื่อนรถใหญ่ที่ใช้ในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย เข้ามายังบริเวณที่เกิดเหตุ และจะมีการขนเศษซากของตึกออกจากที่เกิดเหตุ เบื้องต้นได้ประสานฝ่ายจราจร สน.บางซื่อ ดำเนินการในส่วนที่เกึ่ยวข้องต่อไป
ต่อมาเวลา 06.50 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการว่ากรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ กล่าวว่า เป็นอาคารที่อยู่ในระหว่างก่อสร้าง ใกล้จะแล้วเสร็จ ยังไม่มีผู้อยู่อาศัย มีแต่คนทำงาน และเนื่องจากอาคารใกล้ก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงทำให้มีหลายหน่วยเข้าไปติดตั้งระบบภายในอาคาร เช่น ระบบไฟ จุดนี้เป็นจุดที่เสียหายที่สุดในกรุงเทพฯ โดยสถานการณ์หลังจากแผ่นดินไหวช่วงบ่ายของเมื่อวานนี้ ช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมาสถานการณ์ยังปกติดี อาจมีอาฟเตอร์ช็อกเล็กน้อยแต่ไม่ได้รู้สึกอะไร เมื่อคืนตนก็นอนที่ทำงาน ส่วนประชาชนพักค้างคืนอยู่ในสวนจตุจักรประมาณ 3-4 ร้อยคน อย่างไรก็ตาม เช้าวันนี้ตนพร้อมกับทีมวิศวกรกว่าร้อยคนจะไปตรวจสอบตึกในกรุงเทพฯ ที่มีการแจ้งเหตุเข้ามาใน Traffy Fondue คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ช่วงเวลา 08.00 น.
ขณะที่ นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์ว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาทีมค้นหาได้แบ่งโซนค้นหาออกเป็น 4 โซนคือ A B C และ D โดยใช้กล้องโดรนจับความร้อนในอาคารที่ถล่ม พบว่า โซน A มีผู้ยังมีสัญญาชีพ 10 ราย เสียชีวิต 2 ราย, โซน B มีผู้ยังมีสัญญาชีพ 2 ราย เสียชีวิต 7 ราย และโซน D มีผู้ยังมีสัญญาชีพ 3 ราย เสียชีวิต 4 ราย โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการใช้เครื่องจักรกลหนัก ทยอยนำซากอาคารออก เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้รอดชีวิต เบื้องต้น พบผู้เสียชีวิต 7 ราย ออกมา 5 ราย ยังไม่ออก 2 ราย ผู้บาดเจ็บออกมาแล้ว 9 ราย มีสัญญาณชีพ 15 ราย และไม่มีสัญญาณชีพ 15 ราย ซึ่งยังติดอยู่ในอาคาร ยอดคงเหลือผู้สูญหาย 47 ราย ยืนยันตัวตน 85 ราย
ด้านนายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษกสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมียนมา ขนาด 8.2 ทำให้โครงสร้างอาคารสำนักงาน สตง.แห่งใหม่ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง มีความคืบหน้าไปแล้ว ร้อยละ 30 ของแผนการก่อสร้างพังถล่มลงมาทั้งหมด สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงาน สตง.แห่งใหม่ เป็นอาคาร ความสูง 30 ชั้น มูลค่าก่อสร้าง 2,136 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2563 จากนั้นได้หยุดชั่วคราว จากปัญหาโควิด-19 ผู้รับเหมาก่อสร้างคือ กิจการร่วมค้า (ไอทีดี-ซีอาร์อีซี) เป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด และกิจการร่วมค้า (Joint Venture) PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จํากัด, บริษัท ว.และ สหาย คอนซัลแตนตส์ จํากัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้น จํากัด) เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคาร จากนั้น สตง.ได้ขยายเวลาก่อหนี้ผูกพันเป็นปีงบประมาณ 2563-2569
สำหรับโครงการนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับ สตง. ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกัน และปราบปรามปัญหาการทุจริต “โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)” กับกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี สตง.ได้จัดหาผู้รับจ้างโดยมีการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอน ซึ่งเมื่อเทียบกับราคากลางงานก่อสร้าง จำนวน 2,522.15 ล้านบาท นับว่าต่ำกว่าราคากลางทั้งสิ้น 386.15 ล้านบาท ขณะนี้ สตง.เร่งตรวจสอบความเสียหายการก่อสร้างเพิ่มเติม