ปมร้อนข่าวลึก : คดีพิเศษ ‘ตึกถล่ม’ เขย่าขวัญทั้ง ‘สตง.’ คนสะอาดรอด-คนเทาร่วง
การตรวจสอบหาสาเหตุการถล่มลงของอาคารที่ทำการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ดำเนินการเป็นระยะนับตั้งแต่กาาตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ มาจนถึงการเข้ามาตรวจสอบเชิงลึกถึงคุณภาพของวัสดุก่อสร้างอย่างเหล็กเส้นโดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือแม้แต่การประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการต้องหาสาเหตุให้ได้ มิเช่นนั้นแล้วจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทย
แต่ทั้งหมดทั้งมวลยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดน่าสนใจและเป็นที่น่าจับตามองเท่ากับการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เข้ามาพิจารณาและดูองค์ประกอบต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาให้เป็นคดีพิเศษต่อไป ซึ่งพ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ ได้เรียกประชุมผู้บริหารทันที โดยมี ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ท.อมร หงษ์สีทอง ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าว เข้าร่วมประชุมด้วย
ข่าวว่าที่ประชุมมีการรายงานข้อเท็จจริง ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ในมิติที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเกี่ยวข้อง ในเบื้องต้นมีประเด็นที่อาจเกี่ยวข้องกับความผิด ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ซึ่งมีประกาศคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) (ฉบับที่ 8) กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดฯ ไว้ โดยเป็นอำนาจของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่จะมีคำสั่งให้รับเป็นคดีพิเศษได้ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงมีข้อสั่งการให้กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา ต่อหน่วยงานของรัฐ และกองคดีคุ้มครองผู้บริโภคเร่งทำการสืบสวนกรณีดังกล่าว หากพบความผิดที่เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ ให้รีบเสนอมาเพื่อพิจารณาสั่งการให้ทำการสืบสวนสอบสวนและทำความจริงให้ปรากฏโดยเร็ว
เมื่อมองจากความเคลื่อนไหวของดีเอสไอในการพยายามนำกรณีนี้มาเป็นคดีพิเศษแล้ว แน่นอนว่าต้องพุ่งเป้าไปที่ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการฮั้วประมูลเป็นสำคัญ โดยตามประกาศคณะกรรมการคดีพิเศษ (ฉบับที่8) ได้กำหนดรายละเอียดของลักษณะการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ เฉพาะคดีความตามกฎหมายว่าด้วยการความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ไว้ว่า คดีความผิดที่มีบทกําหนดโทษตามมาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ที่มีหรือมีมูลน่าเชื่อว่ามีการกระทําความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาเพื่อเป็นผู้มีสิทธิทําสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีวงเงินหรือมูลค่าตั้งแต่สามสิบล้านบาทขึ้นไป
โดยกลุ่มมาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 และมาตรา 13 ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ล้วนแต่เป็นกรณีที่เกี่ยวกับการฮั้วประมูลและการทุจริตในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ที่นอกจากจะมีโทษจำคุุกแล้วยังมีโทษปรับในมูลค่าที่สูงมากถึงขนาดมีการปรับเป็นเงิน 50% ของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคาสูงสุดระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิด หรือจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่าอีกด้วย
การเริ่มยื่นมือเข้ามาของดีเอสไอในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้คู่สัญญาที่เป็นภาคเอกชนต้องหนาวๆร้อนๆเท่านั้น แต่ผู้บริหารสตง.ทั้งในอดีตและปัจจุบันที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างดังกล่าว ก็ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างกัน โดยหลักฐานต่าง ๆ เริ่มปรากฏออกมาให้เห็นถึงความผิดปกติกันบ้างแล้ว
ต้องรอดูว่าสตง.ที่ตั้งตระหง่านมาเป็นเวลากว่า 100 ปี ในวันที่เคยตรวจสอบคนอื่นๆแบบเงินบาทเดียวก็ไม่ให้กระเด็นนั้น เมื่อถึงคราวที่ตัวเองโดนตรวจสอบอย่างถึงลูกถึงคนดูบ้าง จะเก็บอาการเวลาเจอกับของแข็งฟาดเข้าให้ไว้ได้นานแค่ไหน ดังนั้น ศึกใหญ่ระหว่าง ‘ดีเอสไอ - สตง.’ จึงเป็นหนังสงครามที่น่าติดตามจนถึงบทสรุปเป็นอย่างยิ่ง