รอยเตอร์ - พม่าได้ยืนยันว่าผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา 180,000 คน ที่อาศัยอยู่ในบังกลาเทศนับตั้งแต่หลบหนีออกจากบ้านเกิด มีสิทธิที่จะเดินทางกลับประเทศได้ สำนักงานข่าวของรัฐบาลบังกลาเทศระบุวันนี้ (4)
การประกาศดังกล่าว ที่เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาในกรุงเทพฯ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในกระบวนการส่งตัวกลับประเทศที่หยุดชะงักมานาน แม้ว่าผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจำนวนมากจะบอกว่าควรอนุญาตให้พวกเขาทั้งหมดได้กลับบ้าน
ชาวโรฮิงญามากกว่า 1 ล้านคน อยู่อาศัยกันอย่างแออัดในค่ายพักพิงทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ ที่เป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่หลบหนีการปราบปรามโหดร้ายของกองทัพพม่าในปี 2560 แม้ว่าบางส่วนจะอาศัยอยู่ในค่ายมานานกว่านั้นก็ตาม
ชาวโรฮิงญาประมาณ 70,000 คน ข้ามแดนเข้าไปในบังกลาเทศเมื่อปีก่อน โดยหลายคนหลบหนีความหิวโหยและความรุนแรงที่เลวร้ายลงในรัฐยะไข่ของพม่า
การประกาศเมื่อวันศุกร์เกิดขึ้นหลังจากการประชุมในกรุงเทพฯ ระหว่างผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลรักษาการของบังกลาเทศ ภายใต้การนำของมูฮัมหมัด ยูนุส และตาน ส่วย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่า นอกรอบการประชุม BIMSTEC ครั้งที่ 6
คำแถลงระบุว่าพม่าได้ให้คำมั่นว่าจะเร่งกระบวนการตรวจสอบรายชื่อที่เหลืออีก 550,000 ชื่อ ในรายชื่อเดิม
ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับผลการประชุมในกรุงเทพฯ
ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาแทบไม่มีความหวังที่จะได้กลับบ้านเกิดของพวกเขา ที่พวกเขายังคงเผชิญกับการปฏิเสธสิทธิพลเมืองและสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเป็นระบบ
ความพยายามที่จะเริ่มต้นการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศในปี 2561 และปี 2562 ล้มเหลว เนื่องจากผู้ลี้ภัยที่กลัวการถูกดำเนินคดี ปฏิเสธที่จะเดินทางกลับพม่า
ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญารายหนึ่งกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ที่ผ่านมามีการยืนยันรายชื่อเพียง 180,000 ชื่อเท่านั้น ผู้ลี้ภัยต้องการการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง
“พม่าต้องรับพวกเราทั้งหมดกลับ ไม่ใช่แค่คนที่ถูกเลือกเพียงไม่กี่คน และพวกเขาต้องทำให้แน่ใจว่าพวกเรากลับไปพร้อมกับสิทธิ ศักดิ์ศรี และความเป็นพลเมืองอย่างเต็มที่ หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ กระบวนการนี้ก็ไม่มีความหมายสำหรับเรา” ผู้ลี้ภัยโรฮิงญา กล่าว.