รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศอนุมัติงบช่วยเหลือแผ่นดินไหวในพม่าเพิ่มอีก 7 ล้านดอลลาร์เมื่อวานนี้ (4 เม.ย.) พร้อมระบุว่า “ไม่แฟร์” ที่สหรัฐฯ ถูกคาดหวังต้องเป็นผู้นำในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั่วโลก
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่าได้อนุมัติงบช่วยเหลืออีก 7 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเติมจาก 2 ล้านดอลลาร์ที่ให้ไปก่อนหน้านี้ผ่านทางองค์กรบรรเทาทุกข์ที่ปฏิบัติภารกิจกู้ภัยอยู่ในพม่า ตามหลังเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ได้คร่าชีวิตชาวพม่าไปแล้วมากกว่า 3,000 คน
แทมมี บรูซ โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โพสต์ข้อความผ่าน X ว่า เงินช่วยเหลือนี้จะถูกนำไปสร้างที่พักพิงชั่วคราว รวมถึงจัดซื้ออาหาร ยารักษาโรค และน้ำสะอาดให้แก่ผู้ประสบภัยในพม่า
สหรัฐฯ เคยเป็นหัวเรือใหญ่ในการช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ก่อนที่รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้ามาสั่งยุบสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และทำให้เจ้าหน้าที่ USAID จำนวนมากได้รับหนังสือเลิกจ้างในช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในพม่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
จีนซึ่งเป็นคู่แข่งด้านภูมิรัฐศาสตร์กับสหรัฐฯ ในเอเชีย รวมถึงรัสเซียและอินเดีย ต่างพร้อมใจกันส่งทีมกู้ภัยเข้าไปยังพม่า ก่อนที่จะสหรัฐฯ จะประกาศมอบเงินช่วยเหลือก้อนแรกเสียอีก
มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า เงินช่วยเหลือจำเป็นจะต้องถูก “จัดสรรให้สมดุล” กับความจำเป็นอื่นๆ ของสหรัฐฯ เอง
“จีนเป็นประเทศที่ร่ำรวยมาก อินเดียเองก็ร่ำรวยมาก” รูบิโอ ให้สัมภาษณ์กับสื่อที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อวานนี้ (4)
“ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลก และทุกคนควรจะร่วมด้วยช่วยกัน” เขากล่าว
“ผมคิดว่ามันไม่แฟร์ที่จะคาดหวังให้สหรัฐฯ ต้องแบกรับภาระ 60-70% ในการมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั่วโลก”
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังออกมาตอบโต้คนที่วิจารณ์ว่าสหรัฐฯ ควรตอบสนองภัยพิบัติในพม่าให้เร็วกว่านี้ โดยกล่าวว่า “คนพวกนี้ก็คือส่วนหนึ่งของพวกอุตสาหกรรม NGO... และยังมีรัฐบาลทหารพม่าที่ไม่ชอบเรา และจะไม่อนุญาตให้เราเข้าไปปฏิบัติภารกิจในรูปแบบที่เราอยากทำ อย่างไรเสียพวกเขาก็จะขัดขวางมาตรการตอบสนองของเราอยู่แล้ว”
ที่มา: เอเอฟพี