สตง.มูฟออนข้ามซากตึก เตรียมสร้างอาคารใหม่ ปรับรูปแบบเน้นการใช้งาน
ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ออกมาแสดงท่าทีอย่างเป็นทางการต่อกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่มลงมา ปราฎว่านายมณเฑียร ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวระหว่างเดินทางมาร่วมงานพิธีสวดพระพุทธมนต์ เพื่อผู้ประสบภัยและผู้สูญหายเหตุแผ่นดินไหว กรณีตึก สตง.ถล่ม โดยมีสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (เจ้าคุณธงชัย) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมีเจ้าคณะกรุงเทพฯ เป็นผู้นำคณะสงฆ์กรุงเทพฯ จำนวน 103 รูป สวดพระพุทธมนต์ให้แก่ผู้ประสบภัยและผู้สูญหายที่ยังติดค้างภายใต้ซากอาคาร
นายมณเฑียร ระบุว่า รู้สึกเสียใจ เราไปงานศพทุกงานที่อยู่ทุกจังหวัด เราส่งเจ้าหน้าที่ไปแสดงความเสียใจและร่วมทำบุญให้กับผู้เสียชีวิต ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บตนกับผู้บริหารก็ไปเยี่ยมทุกโรงพยาบาลทุกคน เราทำงานตลอดเวลา ตอนนี้ชีวิตคนกับเรื่องความสูญเสียเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นจะต้องดูแลเรื่องพวกนี้ก่อนว่าญาติพี่น้องที่เขาลำบาก และชีวิตคนที่สูญเสียไปเราจะทำอย่างไร และทุกครั้งที่คนของเราไปร่วมงานศพ เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ ญาติผู้เสียชีวิตก็บอกว่ามีเพียง สตง.ที่เข้าไปดูแลเขา ส่วนผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาลเราก็ถือโอกาสไปเยี่ยมและได้พูดคุยกับพวกเขา โดยพวกเขาก็เข้าใจว่ามันเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาพูดกับเรา
ขณะที่ ในการประชุมการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธาน กมธ.เป็นประธานการประชุม พิจารณาติดตามการบริหารงบประมาณ กรณีโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่ถล่ม โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล ดังนี้ 1.ผู้ว่าการ สตง. 2.อธิบดีกรมบัญชีกลาง 3.อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง 4.อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 5.นายกสภาวิศวกร 6.นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และ 7.นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมถัมภ์
นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษก สตง. ชี้แจงว่า อาคารของ สตง.เป็นอาคารสูงพิเศษ เป็นไปตามความหมายของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคารปี 2522 ฉะนั้น จึงต้องมีการจ้างออกแบบซึ่งได้บริษัทฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยวงเงิน 73 ล้านบาท และได้ผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) มีการลงนามสัญญา 23 กันยายน 2563 และมีการแก้ไขสัญญา 9 ครั้ง งบประมาณในสัญญาอยู่ที่ 2,560 ล้านบาท ราคากลางขณะที่ประมูลอยู่ที่ 2,522 ล้านบาท แต่ราคาที่ประมูลได้อยู่ที่ 2,136 ล้านบาท แต่เมื่อมีการแก้ไขสัญญาและปรับเนื้องานปัจจุบันสัญญาอยู่ที่ 2,131 ล้านบาท มีระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 36 งวดงาน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า เริ่มสัญญาเมื่อส่งมอบพื้นที่ได้คือ 1 มกราคม 2564 และต้องเสร็จตามสัญญาคือวันที่ 31 ธันวาคม 2566 แต่ระหว่างนั้นมีการขอขยายระยะเวลา 2 ครั้ง เนื่องจากสถานการณ์โควิดและการปรับแก้สัญญา ซึ่งมีการขยายไปจนถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2567 และเราได้มีการปรับแผนตามหนังสือ วอ.1459 ต่อไปถึงวันที่ 14 มิถุนายน2568 ค่าปรับเท่ากับศูนย์ตามหนังสือ วอ.3693 วันที่ 7 สิงหาคม 2568 ทั้งนี้ สตง.ได้เช่าที่รถไฟในพื้นที่ 10 ไร่ เพราะเราต้องการใช้พื้นที่ในการทำงานของเจ้าหน้าที่จำนวน 2,400 คน ซึ่งในส่วนนี้รวมถึงอาคารจอดรถ 1 อาคาร อาคารอบรม 1 อาคาร เรามีหน่วยงานภายใน 50 หน่วยงาน ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมีตึกสูง
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่มีการออกแบบเราได้มีการไปปรึกษาอัยการสูงสุดเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ 2 - 3 ครั้ง จนกระทั่งได้บริษัทที่ชนะออกมา และเราก็ได้ผู้รับจ้างคือบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ที่ถูกมอบให้เป็นผู้เซ็นสัญญา ซึ่งเราได้มีการถามบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ว่าสามารถลดจากราคากลาง 300 กว่าล้านได้หรือไม่คำตอบที่ได้คือเขามีทุนและมีเครื่องมือ และเขาทำเราจึงมีการปรับเงินจาก 2,522 ล้านบาทนั้น มาอยู่ในวงเงินที่เขาเสนอคือ 2,136 ล้านบาท แต่ต้องได้ตึกตามที่เราประกวดราคา และมีการจ่ายเงินไปแล้ว 22 งวด หรือเป็นวงเงิน 966 ล้านบาท รวมเงินที่ต้องจ่ายล่วงหน้า
นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า เราไม่ได้นิ่งเฉย เราได้เข้าไปบริเวณตึกถล่มทุกวัน รวมถึงเมื่อศพผู้เสียชีวิตไปถึงจังหวัดไหน สตง.จังหวัดนั้นต้องเข้าไปเป็นเจ้าภาพ ส่วนเรื่องงานก่อสร้างเราต้องเดินหน้าต่อ แต่ก็เห็นว่าจะทำตึกสูงเหมือนเดิมไม่ได้ และเราได้เช่าที่รถไฟบริเวณด้านหน้าเพิ่มอีก 4 ไร่ เราจึงจำเป็นที่จะต้องแก้แบบให้เป็นแบบแนวราบ กว้าง 50 ตารางวา ยาว 100 ตารางวา เอาทุกอย่างให้ไม่ต้องทันสมัย แอร์ก็ติดผนังธรรมดาเวลาเสียจะได้ไม่ต้องซ่อมยาก แล้วค่อยใส่ความทันสมัยในเทคโนโลยีเวลาทำงาน งบประมาณในการก่อสร้างคงจะไม่ถึง 2,000 ล้านบาท และจะไม่สร้างทับ บริเวณที่ตึกถล่ม จะขยับมาข้างหน้า รวมถึงจะใช้งบประมาณที่เหลือในการก่อสร้างต่อ