ศูนย์่ข่าวนครราชสีมา –ศาลสั่งกกต. ชี้แจงใน 3 ประเด็นที่ท้าทายกระบวนการยุติธรรมเหตุรีบให้การรับรอง
“มาดามหน่อย” นางยลดา หวังศุภกิจโกศล ผู้สมัครจากเพื่อไทย นั่งนายก อบจ.โคราชทั้งที่กระบวนการสอบสวนยังไม่มีบทสรุป ขีดเส้นส่งคำชี้แจงมาที่
กรณีคดีเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา ยังคงเป็นที่จับตาจากชาวโคราช หลังนายสุนทร แพงไพรี ผู้รับมอบอำนาจ จากนายมารุต ชุ่มขุนทด ผู้สมัครนายก อบจ.นครราชสีมา หมายเลข 3 เดินหน้าฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งคณะ 15 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยชี้ว่า การประกาศรับรอง นางยลดา หวังศุภกิจโกศล หรือมาดามหน่อย ผู้สมัครนายก อบจ.นครราชสีมา หมายเลข 2 จากพรรคเพื่อไทย เป็น นายก อบจ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ล่าสุดคดีนี้มีความคืบหน้าสำคัญที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2568 ก่อนวันเลือกตั้งนายก อบจ.นครราชสีมา นายมารุต ผู้สมัครนายก อบจ.นครราชสีมา หมายเลข 3 ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ กกต.นครราชสีมา โดยระบุว่า พบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งนั้น
โดยวันนี้ (11 เม.ย.) ที่ อ.เมืองนครราชสีมา นายสุนทร แพงไพรี ผู้รับมอบอำนาจ เปิดเผยว่า “กกต. รับเรื่อง และแจ้งว่า ได้เริ่มกระบวนการสอบสวน โดยอยู่ในขั้นตอนเรียกผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงข้อกล่าวหา และพร้อมยืนยันว่าคำร้องดังกล่าวมีมูล อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ทีมของนายมารุตฯ ติดใจ คือ การที่ กกต. ตัดสินใจประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างรวดเร็วในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ทั้งที่กระบวนการสอบสวนยังไม่สิ้นสุด ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งนั้น กกต. มีกรอบเวลา 60 วันในการสอบสวน เมื่อพบเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำผิด โดยนายสุนทร มองว่า การเร่งรีบครั้งนี้เป็นการ “อนุมานเอง” และอาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคดีในประเด็นใบส้ม ซึ่งหมายถึงการเพิกถอนสิทธิผู้สมัครบางราย หรือแม้แต่ใบแดง ที่อาจนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งใหม่
ด้วยความไม่มั่นใจในความโปร่งใสของกระบวนการ นายมารุต จึงมอบอำนาจให้นายสุนทรยื่นฟ้อง กกต. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยศาลรับคำฟ้องและจัดการนัดพิจารณาครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ฝ่ายโจทก์แก้ไขคำฟ้องในรายละเอียดเล็กน้อย และส่งให้ศาลภายในวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ก่อนกำหนดนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ที่สำคัญ ศาลยังมีคำสั่งให้ กกต. ชี้แจงใน 3 ประเด็นหลักที่อาจเป็นหัวใจของคดีนี้ ได้แก่ 1.มีการตั้งใจระงับหรือชะลอการสอบสวนในช่วงเวลาที่กำหนดหรือไม่
2.การที่การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ สามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้ตามกฎหมายหรือไม่ และ 3.กกต. อ้างอิงกฎหมายฉบับใดในการตัดสินใจประกาศรับรองผล โดยให้ส่งคำชี้แจงมาที่ศาลภายในวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 นี้เช่นกัน ซึ่งนายสุนทร แสดงความมั่นใจว่า ประเด็นเหล่านี้ไม่ซับซ้อน และ กกต. ควรสามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ พร้อมย้ำว่า เขามีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของศาลว่าจะให้ความเป็นธรรมแก่ผู้สมัครที่ได้รับผลกระทบ
นายสุนทร ยังตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของ กกต. ว่า ในเมื่อยังมีเวลาเหลือถึง 30 วันในกรอบ 60 วันตามกฎหมาย เหตุใดจึงต้องรีบประกาศผล ซึ่งการตัดสินใจเช่นนี้ อาจสะท้อนถึงความไม่รอบคอบหรือมีเจตนาอื่นแอบแฝง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบผลกระทบระหว่างใบส้มและใบแดง ซึ่งมีน้ำหนักแตกต่างกันอย่างมาก ใบส้มอาจส่งผลให้ผู้สมัครบางรายถูกตัดสิทธิ แต่ใบแดงอาจนำไปสู่การยกเลิกผลการเลือกตั้งทั้งหมดและจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะกระทบต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
นายสุนทร ยังอ้างถึงการตอบหนังสือของ กกต.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ระบุว่า กระบวนการสอบสวนยังอยู่ในขั้นตอนเรียกผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งยิ่งตอกย้ำว่าการสอบสวนยังไม่สมบูรณ์ในขณะที่ตัดสินใจรับรองผล
นอกเหนือจากประเด็นทางกฎหมาย นายสุนทร ยังสะท้อนมุมมองต่อสถานการณ์การเมืองและสังคมในปัจจุบัน โดยชื่นชมประชาชนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายมากขึ้น ด้วยการเข้าถึงข้อมูลผ่านเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานราชการและองค์กรอิสระ อย่าง กกต. ได้อย่างใกล้ชิด และยังตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระที่แท้จริงขององค์กรเหล่านี้ โดยระบุว่า ในเมื่อทุกหน่วยงานต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ความอิสระจะต้องไม่กระทบต่อสิทธิของผู้อื่น นอกจากนี้ยังเตือนผู้มีอำนาจหน้าที่ให้ระมัดระวังการใช้อำนาจตามความรู้สึกส่วนตัว เพราะอาจนำไปสู่ความเสียหายต่อการเมืองและสังคมในวงกว้าง
นายสุนทร ย้ำว่า การที่นายมารุต ตัดสินใจใช้สิทธิทางกฎหมายในครั้งนี้ เป็นการปกป้องความยุติธรรมและความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการเลือกตั้ง อบจ.นครราชสีมาเท่านั้น แต่ยังอาจเป็นกรณีตัวอย่างให้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย และหวังว่า ผลการพิจารณาคดีในวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่การปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดตามกฎหมายของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง.