เมื่อวันที่ 15 เม.ย.68 เวลาประมาณ 15.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดของอาคารสตง. เขตจตุจักร ผ่านเพจ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ว่า เมื่อคืนนี้พบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 3 ราย ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิต ณ ขณะนี้อยู่ที่ 44 ราย ซึ่งขณะนี้การรื้อซากอาคารสามารถนำรถเครื่องมือหนักขึ้นมาถึงยอดบนสุดได้แล้ว ซึ่งมีความสูงจากพื้นดินประมาณ 19-20 เมตร จากเดิมที่มีความสูงกว่า 100 เมตร โดยหากค้นพบสัญญาณชีพหรือเคสชิ้นส่วนอวัยวะ เครื่องมือหนักก็ต้องหยุดการทำงานทันที เพื่อส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าค้นหาสลับกันไป นอกจากนี้จะมีเจ้าหน้าที่คอยมอนิเตอร์เหตุการณ์อย่างละเอียดอยู่บนอาคารสูงตลอดเวลาอีกด้วย โดยภารกิจขณะนี้เน้นที่การค้นหาผู้สูญหายควบคู่กับการรื้อซากอาคารไปพร้อมกัน
ที่ผ่านมามีฝนตกหนักในพื้นที่เขตจตุจักร ก็มีหลายภาคส่วนเป็นห่วงเรื่องเศษดินและปูน สไลด์ถล่มจากอาคาร แต่ทางทีมงานผู้เชี่ยวชาญก็ได้ดำเนินการทำเนินไว้เพื่อป้องกันดินสไลด์ซึ่งมีความมั่นคง พร้อมมีเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญดูแลอยู่ตลอดเวลา จึงสามารถวางใจได้ในเรื่องของดินปูนจากอาคารที่สไลด์ลงมา
นอกจากนี้ยังมีการเปิดออกทางที่บริเวณโซน C เพื่อขนซากปูนและเหล็กของซากอาคารออกอีกหนึ่งช่องทางนอกเหนือจากช่องทางหลัก เพื่อขนส่งซากอาคารไปสู่ที่ดินของการรถไฟถนนกำแพงเพชร 7 จึงทำให้การขนซากอาคารออกจากพื้นที่มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ ความคืบหน้าสถานการณ์แผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่อาคาร สตง. เขตจตุจักร ประจำวันที่ 15 เม.ย. 68 เวลา 16.00 น. ผู้ประสบภัย 103 ราย เสียชีวิต 44 ราย บาดเจ็บ 9 ราย ติดค้าง 50 ราย การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บริเวณซากอาคาร สามารถลดความสูงได้ประมาณ 1 เมตรจากเมื่อวาน เครื่องจักรจะเข้าขนย้ายเศษปูนที่โซน A , B และ C หากพบสิ่งที่ระบุเพื่อเป็นข้อมูลเชื่อมโยง เช่น เครื่องแบบ พวงกุญแจ ฯลฯ ที่ติดกับร่าง หรือบริเวณใกล้เคียง จะบันทึกข้อมูลและแจ้งศูนย์ควบคุม (SCC) เพื่อให้ทีม DVI (Disaster Victim Identification) พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลก่อนส่งให้ทีมวิเคราะห์ข้อมูล USAR ซึ่งมีจุดที่น่าสนใจ คือ ST 2, ทางเชื่อมอาคาร และ ST1
การดูแลช่วยเหลือประชาชนและการเยียวยา กทม.ได้ เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว ได้แก่ ศูนย์พักพิง กทม. 3 แห่ง คือ การขอที่พักอาศัยผ่าน Airbnb ศูนย์พักพิงโรงเรียนวัดเสมียนนารี และศูนย์พักคอยญาติผู้ประสบภัย เขตจตุจักร โดยศูนย์พักพิงของผู้ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถเข้าพักในอาคารเดิมได้ และขอที่พักอาศัยผ่าน Airbnb มียอดรวมที่ดำเนินการลงเบียนกับ Airbnb แล้ว จำนวน 613 ครัวเรือน ศูนย์พักพิง โรงเรียนวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร ยังสามารถรองรับได้ 150 คน ส่วนศูนย์พักคอยญาติ เขตจตุจักร รองรับได้ 82 คน เข้าพัก 74 คน ว่าง 8 ที่ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 เมษายน 2568 เวลา 12.20 น.)
มท.ประกาศเพิ่มวงเงินผู้เสียชีวิตเป็น 1 แสน เตรียมจ่ายเยียวยาล็อตแรก 18 เม.ย.68
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์ประจำวันเหตุอาคาร สตง. ถล่มจากแผ่นดินไหว ว่า เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ได้มีการเคลียร์ความสูงของซากอาคารในทุกโซน ทั้ง A, B, C และ D ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปตามเเผน เเต่ปัญหาตอนนี้คือเส้นเหล็กบางจุดที่ขวางทำให้เจ้าหน้าที่ทีมกู้ภัยไม่สามารถลงไปสำรวจตามโพรงต่าง ๆ ได้ วันนี้ 15 เม.ย. จึงได้มีการนำเครื่องจักรตัดเหล็กมาเพิ่มจำนวน 1 คัน เพื่อให้การค้นหาและรื้อถอนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันเหลือยอดความสูงของซากอาคารที่ประมาณ 19 เมตร ตอนนี้มียอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด 44 คน บาดเจ็บ 9 คน สูญหาย 50 คน
สำหรับการพิสูจน์อัตลักษณ์ จากรายชื่อที่ได้จาก สตม. ทั้งหมด 103 ราย พบเเล้ว 91 ราย เเต่ยังมีรายชื่อที่ยังตกหล่น โดยตอนนี้กำลังประสานกับเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานให้ตรวจสอบ น่าจะสามารถติดตามได้ทั้งหมด รวมถึงจะให้สำนักงานการต่างประเทศของ กทม. ประสานไปยังกระทรวงต่างประเทศด้วย ในการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์เพิ่มจากชายแดนของสถานทูตเมียนมา
ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยเพิ่มวงเงินในการจัดการศพเป็นศพละ 100,000 บาท โดยที่ไม่คิดในรายละเอียดว่าเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัวหรือไม่ คาดกำหนดจ่าย ล็อตแรกที่ได้รับการรับรองแล้วในวันที่ 18 เมษายน ที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งขณะนี้ขอเวลาให้ทาง กทม. เร่งนำร่างไปพิสูจน์อัตลักษณ์ต่อไป