xs
xsm
sm
md
lg

ผลกระทบคลองกัมพูชาต่อแม่น้ำโขงถูกตั้งคำถามหลังจีนลงนามข้อตกลงเดินหน้าโครงการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รอยเตอร์ - กัมพูชาควรแบ่งปันผลการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับผลกระทบของโครงการคลองที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน ที่จะเบี่ยงน้ำจากที่ราบลุ่มปลูกข้าวในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำของเวียดนาม หน่วยงานที่กำกับดูแลแม่น้ำข้ามประเทศระบุ

หลังจากความไม่แน่นอนอยู่นานหลายเดือน พนมเปญได้ลงนามข้อตกลงกับจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อพัฒนาคลองฟูนันเตโช ระหว่างการเยือนกัมพูชาของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่เป็นส่วนหนึ่งของการเยือนหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นับเป็นคำมั่นสัญญาต่อสาธารณะครั้งแรกของปักกิ่งต่อโครงการนี้ โดยให้บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ที่ควบคุมโดยรัฐบาลอย่าง China Communications Construction Company (CCCC) ถือหุ้น 49% ผ่านบริษัทลูก แต่ยังเชื่อมโยงการสนับสนุนของจีนต่อความยั่งยืนของโครงการด้วย

สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ที่ประสานงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนของแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าจนถึงขณะนี้หน่วยงานได้รับเพียงข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับโครงการจากกัมพูชาเท่านั้น

“เราหวังว่าจะมีการให้รายละเอียดเพิ่มเติม รวมทั้งรายงานการศึกษาความเป็นไปได้และรายงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ” คณะกรรมาธิการระบุในคำแถลงถึงรอยเตอร์

“สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อลุ่มแม่น้ำโขงโดยรวมได้รับการพิจารณาอย่างเต็มที่” คำแถลงระบุ

คลองดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับนักสิ่งแวดล้อมที่กล่าวว่าอาจส่งผลเสียต่อระบบนิเวศที่บอบบางของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหลักของเวียดนาม และกำลังเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง และดินเค็ม ที่เป็นผลของโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ทางตอนเหนือของแม่นำ้อยู่แล้ว โดยเวียดนามยังเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อีกด้วย

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชากล่าวว่าคลองดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และสอดคล้องกับข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 ที่กำหนดความร่วมมือระหว่างประเทศในลุ่มแม่น้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม่น้ำโขงไหลเป็นระยะทางราว 4,900 กิโลเมตร จากต้นน้ำบนที่ราบสูงทิเบต ผ่านจีน พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ลงสู่ทะเล

“คลองฟูนันเตโชจะละเมิดข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงการเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขงสายหลัก” คณะกรรมาธิการ ระบุ

กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนามเป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ขณะที่จีนและพม่าเป็นคู่เจรจา

รัฐบาลกัมพูชาไม่ได้ตอบกลับคำถามว่ามีความตั้งใจที่จะแบ่งปันเอกสารที่ร้องขอหรือไม่ ส่วนกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามไม่ได้ตอบกลับคำขอแสดงความคิดเห็นหลังจากการลงนามข้อตกลงกับจีน แต่เวียดนามได้ขอให้กัมพูชาแบ่งปันข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคลองเพื่อประเมินผลกระทบหลายครั้ง

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่ได้อ้างถึงคลองในคำแถลงต่อสาธารณะในกรุงพนมเปญแต่แถลงการณ์ร่วมที่ออกในตอนท้ายของการเยือนระบุว่า จีนสนับสนุนกัมพูชาในการสร้างคลองดังกล่าวตามหลักของความเป็นไปได้และความยั่งยืน

ข้อตกลงที่ลงนามโดย CCCC เมื่อวันศุกร์เป็นการสร้างคลองระยะทาง 151.6 กิโลเมตร มูลค่า 1,160 ล้านดอลลาร์

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกัมพูชาระบุบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของคลองว่าทางน้ำจะมีความยาว 180 กิโลเมตร และมีค่าใช้จ่าย 1,700 ล้านดอลลาร์ เมื่อสร้างเสร็จในปี 2571

ต้นทุนที่สูงขึ้นสะท้อนถึงส่วนที่สั้นของโครงการที่สร้างโดยบริษัทกัมพูชา รวมถึงสะพานและแหล่งอนุรักษ์น้ำ รัฐบาลกัมพูชากล่าวกับรอยเตอร์โดยไม่ได้ชี้แจงว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับสะพานและการอนุรักษ์น้ำดังกล่าว

รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวในเดือนพ.ค. 2567 ว่าจีนจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการ ที่กำหนดไว้ที่ 1,700 ล้านดอลลาร์

คลองดังกล่าวได้รับการออกแบบให้เชื่อมแอ่งแม่น้ำโขงกับอ่าวไทยในจ.แกบ ทางภาคใต้ของกัมพูชา ซึ่งตะกอนที่อุดมด้วยสารอาหารของแม่น้ำโขงจำนวนมากจะไหลไปไม่ถึงแหล่งปลูกข้าวในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพราะเขื่อนไฟฟ้าหลายแห่งที่จีนสร้างขึ้นบริเวณต้นน้ำ ตามการวิเคราะห์ของรอยเตอร์ในปี 2565

โครงการที่ตกลงกับจีนยังแตกต่างจากแผนเดิมที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการชลประทานมากกว่าวัตถุประสงค์ในการเดินเรือเพียงอย่างเดียว ไบรอัน อายเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญภูมิภาคแม่น้ำโขงจากศูนย์สติมสันในสหรัฐฯ ระบุ

“น้ำที่เบี่ยงออกจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงจะมากกว่าที่อธิบายไว้ก่อนหน้านี้มาก” อายเลอร์ ระบุ.


กำลังโหลดความคิดเห็น