xs
xsm
sm
md
lg

ถนนกำแพงเพชร 6 ตำนาน 24 ปีพังซ้ำซาก กทม.รับไม่ไหวสภาพเกินเยียวยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เปิดประเด็นถนนกำแพงเพชร 6 ใต้สถานีรถไฟสายสีแดงพังซ้ำซาก ย้อนตำนาน "เทพเทือก" ดันถนนสายนี้เมื่อ 24 ปีก่อน แต่พบว่าสร้างแล้วพัง อุบัติเหตุอื้อ ส่วนถนนเป็นลูกคลื่น ผู้รับเหมาสายสีแดงไม่สกัดฐานรากออก อ้างค่าใช้จ่ายสูง กทม.จะรับมอบเจอสารพัดชำรุด บ่นการรถไฟฯ ไม่ได้แก้ไขก่อนส่งมอบเลย เขตดอนเมืองนัดถกแก้ปัญหาถาวรอังคารนี้ (18 ม.ค.)

จากกรณีที่นายจอจาน เอกราช ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตดอนเมือง พรรคก้าวไกล เปิดประเด็นถนนใต้แนวรถไฟฟ้าสายสีแดง เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นลูกคลื่น เกิดอันตรายแก่ผู้สัญจรไปมา ต่อมาได้เผยแพร่หนังสือที่มีนายชัยพร บัวสรวง ผู้อำนวยการกองแผนงานและประสานสาธารณูปโภค สำนักการโยธา ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ได้ทำหนังสือลงวันที่ 7 ม.ค. 2565 ชี้แจงว่า ถนนเส้นดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงประสานเพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำนักงานเขตดอนเมืองจะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เขตดอนเมือง สำนักงานโยธาธิการ สน.ดอนเมือง และการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ เข้าร่วมประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขในวันอังคารที่ 18 ม.ค. โดยก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานครได้เข้าไปซ่อมแซมถนนกำแพงเพชร 6 เป็นการชั่วคราว 3 จุด ได้แก่ บริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 25 ฝั่งขาออก หน้าโรงแรมมิราเคิล แกรนด์ และหน้าสำนักงานเขตดอนเมือง ส่วนบริเวณที่ผิวจราจรชำรุดเป็นหลุมบ่อขนาดใหญ่ รวมถึงเป็นคลื่น ไม่เรียบเสมอกัน ได้ประสานการรถไฟฯ ให้ตรวจสอบและเร่งซ่อมแซมเป็นระยะ

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครไม่สามารถเข้าไปดำเนินการซ่อมแซมถนนกำแพงเพชร 6 ถาวรได้ เนื่้องจากถนนดังกล่าวอยู่ในกรรมสิทธิ์และความรับผิดชอบของการรถไฟฯ ซึ่งที่ผ่านมาการรถไฟฯ ยกเลิกสัญญาอนุญาตให้ กทม.ใช้สิทธิเหนือพื้นดินบริเวณดังกล่าว เพื่อใช้ก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)


แม้ภายหลังการรถไฟฯ จะมีหนังสือแจ้งส่งมอบถนนให้ กทม.เป็นผู้ดูแลรักษา แต่ กทม.ไม่สามารถรับมอบถนนดังกล่าวได้ เพราะไม่มีบันทึกข้อตกลงการส่งมอบกรรมสิทธิ์ที่ดิน ถนนชำรุดทรุดตัว คันดินและทางเท้าไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีป้ายจราจรและระบบไฟฟ้าส่องสว่าง และท่อระบายน้ำสูงกว่าระดับผิวจราจร การรถไฟฯ ไม่ได้แก้ไขให้เรียบร้อย นอกจากนี้ กรณีที่ถนนกำแพงเพชร 6 ตั้งแต่แยกวัดเสมียนนารี ถึงบริเวณแยกคลังน้ำมัน ใต้สถานีรถไฟฟ้าดอนเมือง (สายสีแดง) มีสภาพเป็นเนินลูกคลื่นตลอดแนว เพราะโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงของการรถไฟฯ จัดซ่อมผิวจราจรไม่ได้ระดับและไม่เรียบร้อย รวมทั้งสกัดเสาตอม่อโฮปเวลล์เดิมออกไม่หมด ทำให้ถนนทรุดตัวไม่เท่ากันผิวจราจรนูนเป็นคลื่น

ขณะที่การรถไฟฯ ประสบปัญหาขาดทุนทุกปี ประกอบกับวัตถุประสงค์ขององค์กรไม่ได้กำหนดมาให้ซ่อมแซมหรือก่อสร้างถนนโดยตรง ทำให้การของบประมาณซ่อมแซมถนนดังกล่าวทำได้ยาก ซึ่งปัญหาถนนทรุดตัวไม่เท่ากันผิวจราจรนูนเป็นคลื่น เพราะในขณะก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้น ผู้รับเหมารื้อถอนเฉพาะเสาตอม่อที่อยู่เหนือพื้นดิน แต่ไม่ได้รื้อถอนบริเวณฐานรากของโครงการโฮปเวลล์เดิมได้ทั้งหมด เพราะต้องใช้เทคนิคพิเศษในการรื้อถอน และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ที่ผ่านมาพยายามส่งมอบถนนสายนี้ให้ กทม. ดูแล แต่ กทม.มองว่าหากรับไปบริหารเอง ค่าซ่อมบำรุงในภายหลังจะตามมาเป็นจำนวนมาก


ย้อนกลับไปในอดีต ถนนกำแพงเพชร 6 มีชื่อว่า ถนนโลคัลโรด (Local Road) ก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2540 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็น รมว.คมนาคม หลังบอกเลิกสัญญาโครงการโฮปเวลล์ เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพปี 2541 ระยะทาง 33.79 กิโลเมตร มีกรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ แบ่งการก่อสร้างเป็น 10 ตอน งบประมาณ 693.23 ล้านบาท เป็นถนนนลาดยางขนาด 4 ช่องจราจร มีกำแพงคอนกรีตกั้นระหว่างถนนกับทางรถไฟ มีการควบคุมน้ำหนัก ไม่อนุญาตให้รถบรรทุกผ่านเข้าวิ่ง ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2541

ถนนโลคัลโรดแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 จากถนนรังสิต-ปทุมธานี เลียบทางรถไฟสายเหนือ ถึงถนนกำแพงเพชร 2 บริเวณสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ เรียกว่าถนนกำแพงเพชร 6, ช่วงที่ 2 จากบริเวณคลองบางซื่อ เลียบทางรถไฟสายเหนือและสายตะวันออก ถึงถนนพระราม 6 ใต้ทางด่วนอุรุพงษ์ เรียกว่าถนนกำแพงเพชร 5 และช่วงที่ 3 จากถนนนิคมมักกะสัน เลียบทางรถไฟสายตะวันออก ถึงถนนศรีนครินทร์ เรียกว่าถนนกำแพงเพชร 7 แต่เนื่องจากถนนดังกล่าวมีจุดตัดจำนวนมาก ถนนซิกแซ็กไปมาเป็นบางช่วง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยเฉพาะบริเวณหน้าวัดเสมียนนารี จึงต้องคอยแก้ไขปัญหาเป็นระยะ ไม่นับรวมปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณช่วงถนนกำแพงเพชร 7 ปัญหาแผงคอนกรีตกันตกข้างถนน และเสาไฟข้างทางถูกชนแต่ไม่ได้ซ่อมแซม เป็นต้น

ที่ผ่านมาการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ปิดถนนโลคัลโรดเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าชั่วคราว และหลังก่อสร้างแล้วเสร็จได้กลับมาเปิดการจราจรตามปกติ ได้แก่ ปี 2548 ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าเชื่้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ช่วงพญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตลิงก์ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จได้เปิดการจราจรตามเดิม ต่อมาในปี 2558 การรถไฟฯ ได้ปิดถนนกำแพงเพชร 6 เริ่มตั้งแต่ด้านหลังสถานีขนส่งหมอชิต ถึงที่หยุดรถไฟ กม.11 บริเวณใต้ทางด่วนศรีรัชเป็นการถาวร เพื่อก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต โดยได้ก่อสร้างถนนใหม่ทดแทน ตลอดแนวด้านข้างฝั่งทิศเหนือของสถานีขนส่งหมอชิต 2 ช่องจราจร เพื่อใช้เป็นเส้นทางเชื่อมถนนกำแพงเพชร 6 กับถนนกำแพงเพชร 2 รวมทั้งมีการปิดการจราจรเป็นระยะ เมื่อก่อสร้างแต่ละจุดแล้วเสร็จก็เปิดการจราจรตามปกติ

อนึ่ง เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2564 การรถไฟฯ ได้เคยส่งมอบถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ ช่วงตั้งแต่ถนนประชาชื่น ถึงถนนกาญจนาภิเษก เขตตลิ่งชัน กทม. ให้กรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ดูแลงานบำรุงรักษา รวมทั้งประสานการไฟฟ้านครหลวงเพื่อขอเชื่อมระบบไฟฟ้าเป็นไฟฟ้าสาธารณะอีกด้วย ในรายละเอียดบันทึกข้อตกลงดังกล่าว การรถไฟฯ ได้ส่งมอบทางเท้า ท่อระบายน้ำ ป้าย เครื่องหมายจราจร ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ทรัพย์สินและสิ่งก่อสร้าง ให้กรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ดำเนินการดูแลบำรุงรักษา ครอบคลุมทั้งในด้านการติดตั้งเครื่องหมายจราจร สัญญาณไฟจราจร อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย การจัดระบบการระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง การจัดการจราจร ปลูกต้นไม้ และจัดทำสวนหย่อม โดยการรถไฟฯ ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในพื้นที่อยู่เช่นเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น